Rilakkuma and Kaoru (2019) แอนิเมชันสั้นที่จะพาทุกคนไปผ่อนคลายกับคาโอรุและผองเพื่อนตัวน้อยรีลัคคุมะ โคริลัคคุมะและคิอิโระอิ

เรื่องย่อ
Rilakkuma and Kaoru (2019) รีลัคคุมะกับคาโอรุคาโอรุ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสาวออฟฟิศที่ทำงานเป็นพนักงานเงินเดือนอยู่ที่บริษัทซาจิเมะที่เธอต้องทำงานหนักและดูเหมือนว่าบริษัทของเธอทำกำไรได้ไม่มากนัก จึงทำให้เธอต้องทำงานหนักและได้ผลตอบแทนน้อย ชีวิตของเธอเป็นกิจวัตรประจำวันที่แสนจำเจและน่าเบื่อ จนวันหนึ่งเธอพบว่า “รีลัคคุมะ” หมีสีน้ำตาลตัวตุ้ยนุ้ยแสนขี้เกียจมาอยู่ที่ห้องของเธอแถมยังพา “โคริลัคคุมะ” เข้ามาพักด้วย กลายเป็นว่าเธอต้องอยู่ร่วมอาศัยกับเพื่อนตัวน้อยสามตัวคือ “คิอิโระอิ” นกน้อยตัวสีเหลืองที่เลี้ยงไว้ “รีลัคคุมะ” หมีสีน้ำตาลที่ตีหน้ามึนและเข้ามาอยู่ด้วยและ “โคริลัคคุมะ” หมีน้อยตัวเล็กสีขาวที่เข้ามาในภายหลัง ชีวิตของคาโอรุจึงค่อย ๆ เปลี่ยนไปหลังจากที่เพื่อนร่วมห้องตัวน้อยได้เข้ามาในชีวิต
Rilakkuma and Kaoru (2019) รีลัคคุมะกับคาโอรุ เป็นแอนิเมชั่นเรื่องสั้นกำกับโดยโคบายาชิ มาซาฮิโตะ และเขียนบทโดยคุณโอกิกะ มินาโอโกะ ที่สร้างด้วยเทคนิค stop motion ซึ่งก็คือการสร้างองค์ประกอบต่าง ๆ ในภาพ เช่น ตัวละคร สถานที่ แล้วขยับตัวละครหรือสิ่งที่ต้องการทีละนิด จากนั้นจึงถ่ายภาพไว้ทุกการขยับแล้วนำมาตัดต่อเข้าด้วยกัน ความท้าทายของการทำแอนิเมชันแบบ stop motion คือใช้เวลานานและต้องใช้ความละเอียดอ่อนทั้งในด้านการทำตัวละคร การจัดแสงสี การถ่ายภาพ

รีวิว
สิ่งแรกที่รู้สึกได้หลังจากที่ได้ดู Rilakkuma and Kaoru (2019) รีลัคคุมะกับคาโอรุ คือความสบายใจและความสุขที่เรียบง่าย เป็นความรู้สึกที่คล้าย ๆ กับความโล่งใจผสมกับความรู้สึกที่สบายใจหลังจากที่เพิ่งตื่นนอนใหม่ ๆ เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่ได้ดูแอนิเมชันเรื่องนี้จนจบก็คงจะรู้สึกแบบเดียวกัน โดย Rilakkuma and Kaoru (2019) เป็นแอนิเมชันชุดสั้นที่สามารถดูได้ทั้งครอบครัว ซึ่งโครงเรื่องนั้นเป็นเรื่องราวที่ดำเนินไปเรื่อย ๆ เป็นตอน ๆ ซึ่งจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวันของคาโอรุ หมีจอมขี้เกียจสองตัวและนกสีเหลืองตัวน้อย โดยในแต่ละตอนจะมีแก่นเรื่องที่แตกต่างกันไป เช่น สถานะทางการเงินที่ไม่ดีของคาโอรุ การพบกันของคาโอรุและรีลัคคุมะ ปัญหาของคาโอรุ เป็นต้น โดยแต่ตอนจะมีการสรุปเรื่องราวด้วยข้อความสั้น ๆ น่ารัก ๆ แต่ลึกซึ้งและบางครั้งเราอาจจะมองข้ามเรื่องราวเหล่านี้ไป จากความรู้สึกส่วนตัว หากกล่าวว่า Rilakkuma and Kaoru (2019) เป็นแอนิเมชันที่ดูแล้วชีวิตดีขึ้นก็คงไม่ผิดนัก ซึ่งคำว่าชีวิตดีขึ้น ไม่ได้หมายความว่าแอนิเมชันเรื่องนี้ได้แก้ไขปัญหาชีวิตหรือเพิ่มพูนสินทรัพย์ที่มีอยู่แต่อย่างใด เพียงแต่ว่าแอนิเมชันได้มอบสิ่งที่เรียกว่า “พลังงานบวก” เล็ก ๆ ให้กับเรา ทำให้เราได้มองเห็นและสัมผัสได้ถึงความโปร่งเบาและสบายใจจากทั้งเสียงและภาพของเรื่อง อย่างน้อย ๆ แอนิเมชันก็ทำให้เราได้มีช่วงพักหายใจเล็ก ๆ และติดตามเรื่องราวในชีวิตของคาโอรุและเพื่อนของเธอราวกับว่าเราเป็นผู้ร่วมเดินทางด้วย หากเปรียบว่าการนั่งหายใจในช่วงเวลาประมาณสองชั่วโมงกับแอนิเมชันเรื่อง Rilakkuma and Kaoru (2019) เป็นการนั่งพักผ่อนในช่วงลาพักร้อนก็คงจะได้ เพราะแอนิเมชันเรื่องนี้ให้ความรู้สึกนั้นจริง ๆ

(สปอยล์เล็กน้อย)
โครงเรื่องของ Rilakkuma and Kaoru (2019) อาจจะดูเหมือนไม่มีอะไรเพราะดูเรื่อย ๆ ไม่มีความน่าตื่นเต้นอะไร แต่จุดแข็งของเรื่องนี้ก็คือความเรื่อย ๆ นี่แหละ เพราะมันเป็นความเรื่อย ๆ ที่ดู “เปี่ยมสุข” แต่เดิมชีวิตของคาโอรุดูน่าเบื่อเพราะชีวิตประจำวันที่จำเจ ตื่นเช้าไปทำงานบริษัทแล้วก็กลับบ้าน รวมถึงความรู้สึกของคาโอรุรู้สึกโดดเดี่ยว อ้างว้าง และรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถพัฒนาไปไกลได้กว่านี้แล้ว สามารถสังเกตได้จากคำพูดบางช่วงของคาโอรุ ซึ่งกล่าวว่า
“ถ้ามนุษย์ทุกคนมีป้ายติดราคาละก็ ฉันจะมีราคาเท่าไหร่นะ ฉันรู้สึกว่าฉันไร้ค่า ฉันก็แค่ขยะชิ้นหนึ่งที่ล่องลอยอยู่ในอวกาศ ซึ่งฉันไม่มีทางหนีออกไปได้ ”
คำพูดของเธอในชั่วขณะหนึ่งเหมือนคนสิ้นหวัง แต่ทันใดเธอก็สลัดความคิดนั้นออกแล้วดำเนินชีวิตต่อไป ปัญหานี้อาจเป็นปัญหาที่มนุษย์เงินเดือนบางคนอาจเคยพบเจอมาก่อน ความรู้สึกที่เราทำงานหนักเพื่อต่อเติมความฝันของบริษัท ความฝันของคนอื่น โดยได้รับเงินเป็นการตอบแทน แม้ว่าจะทำงานได้ดีหรือเติบโตในหน้าที่การงานแค่ไหน แต่ภายในกลับรู้สึกกลวงเปล่า รู้สึกว่าไม่มอบเวลาชีวิตให้กับงานแต่ตัวเองยังอยู่กับที่ ความรู้สึกแบบนี้อาจมาได้จากหลายสาเหตุ เช่น ไม่ได้ชอบงานที่ทำอยู่มากนัก งานหนักเกินไป ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า ภาระทางบ้านและหนี้สิน หรือกระทั่งความเหนื่อยหน่ายและหมดกำลังใจ เป็นต้น โดยการที่รู้สึกอย่างนี้เป็นเรื่องปกติ เพราะยากนักที่จะมีงานที่เราชอบทุกส่วนของมัน เพราะเราต่างทำงานเพื่อการดำรงชีพ หรือทำงานเพื่อ “เงิน” คาโอรุเองก็คงจะรู้สึกแบบนี้ การแก้ปัญหาของเธอก็คือการทำงานต่อไปเพราะอย่างน้อยก็ทำให้เธอสามารถดำรงชีวิตได้ (การวิเคราะห์ข้างต้นเป็นเพียงความคิดเห็นเท่านั้น อาจจะตรงกับสิ่งที่ผู้เขียนบทต้องกี่สื่อหรือไม่ก็ได้)
“ไม่เข้าใจเลย เป็นแมวเหมือนกันทั้งคู่ แต่ทำไมตัวที่ถูกทิ้งไม่มีราคา แต่ตัวนี้ตั้ง 150,000 เยนล่ะ”
คาโอรุคิดขณะที่เธอยืนดูแมวในตู้กระจกที่ร้านขายสัตว์เลี้ยง คาโอรุอยากเลี้ยงแมวเพราะเธอรู้สึกเหงาและคิดว่าแมวน่าจะเป็นเพื่อนที่ดี ก่อนหน้านี้เธอเห็นแมวจรจัดและรู้สึกเอ็นดูมัน หากถามว่าทำไมแมวในร้านจึงมีราคาก็คงต้องตอบว่าเป็นเพราะธุรกิจและผู้เลี้ยงเองก็มีสิทธิ์เลือกว่าอยากเลี้ยงแมวแบบไหน หากลองนึกดูขำ ๆ (คล้าย ๆ อย่างคาโอรุข้างต้น) ว่าถ้ามนุษย์เป็นสัตว์เลี้ยงของซักเผ่าพันธุ์หนึ่งที่ฉลาดกว่า และมีการตั้งราคาขายมนุษย์ จะต้องเป็นมนุษย์ที่มีลักษณะแบบไหนถึงราคาแพงและจะต้องเป็นมนุษย์แบบใดที่จะถูกทอดทิ้ง อันนี้ก็เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่น่าคิดว่าจะเป็นอย่างไรถ้ามนุษย์อยู่ในสถานะสัตว์เหมือนกับสัตว์ชนิดอื่น ๆ
โควทที่ประทับใจในเรื่องคือโควทในตอนแรกที่ว่า
“ดอกไม้แต่ละดอกบานในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน”
กล่าวคือทุกอย่างมีเวลาของมัน หากบางสิ่งในชีวิตยังมาไม่ถึงหรือไม่เป็นไปอย่างที่หวังก็อาจจะหมายความได้ว่า มันอาจจะไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมของเรา เราจึงควรเตรียมตนเองให้พร้อมเพื่อรับโอกาสที่กำลังจะเข้ามาในชีวิต จะได้ไม่เสียใจในภายหลัง
อีกข้อคิดหนึ่งที่ได้จากการ Rilakkuma and Kaoru (2019) คือการรักษาและเยียวยาใจตนเอง ในบางตอนเมื่อคาโอรุรู้สึกเศร้าเธอจะกลับมาบ้านและเมื่อเธอพบเพื่อน ๆ ทั้งสามตัวเธอก็เบาใจขึ้นนิดหน่อย เพราะอย่างน้อยเธอก็มีที่พึ่งพึงทางใจ มีคนที่อยู่เคียงข้าง จะเห็นได้ว่าในที่สุดแล้วในบางช่วงเวลาคนเราก็ต้องการที่พึ่งพึงทางใจที่สามารถเชื่อใจได้ว่าจะไม่มาหักหลังหรือจากไปทีหลัง ซึ่งคนเป็นที่พึ่งพึงเล็ก ๆ ที่สามารถเป็นหลุมหลบภัยได้นั้นหายากอย่างยิ่ง สิ่งที่พอเราพอทำได้เมื่ออ่อนแอจึงเป็นการรักตัวเองซึ่งก็ทำยากอีก อย่างไรก็ตามอุปสรรคที่เข้ามา ในวันนึงมันก็จะผ่านไป ทำสิ่งที่เราทำได้ให้ดีที่สุดก็พอ

(สปอยล์)
ความขัดใจเล็ก ๆ เมื่อดู Rilakkuma and Kaoru (2019) คือบางช่วงที่คาโอรุเมินเพื่อนตัวน้อยทั้งสามตัว เช่น ตอนที่จะไปเที่ยว ตอนที่ไปชมซากุระกับเพื่อนและทิ้งเพื่อนตัวน้อยสามตัวไว้ที่บ้าน (อาจเป็นเพราะคาโอรุมองรีลัคคุมะและโครีลัคคุมะเป็นสัตว์เลี้ยง โดยคิอิโระอิเป็นสัตว์เลี้ยงอยู่แล้ว ซึ่งก็สมเหตุสมผมอยู่) ทำให้คนโลกสวยอย่างผู้เขียนรู้สึกน้อยใจแทนเจ้าเพื่อนตัวน้อยทั้งสามตัว (ซึ่งก็มีบางช่วงที่เพื่อนตัวน้อยงอนและเมินคาโอรุกลับบ้าง) ถือเป็นโมเมนต์เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มาพอให้คนดูรู้สึกขัดใจเล่น ๆ แต่ก็เป็นเรื่องปกติเพราะคาโอรุเองก็เป็นคนเหมือนกัน เราไม่สามารถรู้ได้ว่าเธอเป็นคนยังไงและอยากให้เป็นอย่างที่เราเป็นไม่ได้ด้วย เพราะไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบและเป็นไปตามที่เราชอบได้ทุกอย่าง

ส่วนตัวชอบเพลงประกอบของ Rilakkuma and Kaoru (2019) รีลัคคุมะกับคาโอรุ มาก เพราะเป็นเสียเปียโนเบา ๆ ทำให้เคลิ้มไปกับห้วงอารมณ์ของตัวละคร ณ ขณะนั้น เพลงที่ชอบมากที่สุดคือเพลง Quite Daily life โดย Shigeru Kishida ชื่อเพลงก็บอกถึงความชิลของชีวิต อารมณ์ประมาณว่า “วันนี้ฉันขอนอนอยู่บ้านแบบเงียบ ๆ นะ” พอนึกถึงวลีนี้ก็ทำให้นึกถึงเจ้าหมีรีลัคคุมะที่นอนทั้งวัน ด้วยเมโลดี้ที่สดใสทำให้รู้สึกว่า “ชีวิตช่างสดใสอะไรอย่างนี้” เพลงประกอบของเรื่องนี้ยังมีอีกหลายเพลงที่ไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้ หากใครอยากลองฟังก็สามารถหาฟังใน Youtube ได้เลย
โดยรวม Rilakkuma and Kaoru (2019) รีลัคคุมะกับคาโอรุ เป็นแอนิเมชันสั้นที่ฟีลกู๊ดมาก ๆ หากว่าเครียดหรือไม่สบายใจ การดูแอนิเมชันสั้นสั้นเรื่องนี้ก็ถือว่าพอช่วยได้ อีกทั้งยังสามารถดูจบได้ภายในสองชั่วโมงกว่า ๆ แต่รับรองได้เลยว่าเป็นสองชั่วโมงที่คุ้มค่าและอิ่มเอมแน่ ๆ โดยสามารถรับชมได้ทาง Netflix ค่ะ