I’m not okay with this (2020) เป็นซีรีส์เรื่องเด่นในปี 2020 เพราะนอกจากเนื้อเรื่องที่มีความจัดจ้านแล้วยังมีจุดพีคที่ไม่ว่าใครก็คาดไม่ถึง

เรื่องย่อ
I’m not okay with this (2020) เป็นซีรีส์แนว coming of age ที่ปนความแฟนตาซีลึกลับบวกกับความดราม่าและปมต่าง ๆ ของตัวละครแต่ละตัว สร้างจาก graphic novel ในชื่อเดียวกัน โดย I’m not okay with this (2020) เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับซิดนีย์ เธอเป็นนักเรียนมัธยมปลายที่เพิ่งเสียพ่อ เธอจึงมีปัญหาในเรื่องของสภาพจิตใจและการควบคุมอารมณ์ เธอพบว่าตนเองมีอะไรบางอย่างผิดปกติเพราะทุกครั้งที่เธอโมโหมาก ๆ อะไรก็ตามแต่ที่อยู่ตรงหน้าเธอจะเคลื่อนไหวเองโดยที่เธอไม่รู้ตัว ทีแรกเธอก็ไม่ได้สนใจมันนักและคิดว่าคงไม่เป็นอย่างที่คิด แต่ต่อมาเธอก็ต้องยอมรับว่าเธอมีพลังเหนือธรรมชาติจริง ๆ
รีวิว
I’m not okay with this (2020) เป็นซีรีส์ที่เปิดตัวได้อย่างน่าสนใจตั้งแต่ตัวอย่าง โดยอย่างที่รู้กันดีว่าซีรีส์เรื่องนี้มีผู้กำกับเรื่องเดียวกับ The End of The Fxxxing World กับผู้สร้าง Stranger Things ทำให้เราได้เห็นตัวอย่างซีรีส์แนว ๆ เดียวกัน คือ แนววัยรุ่น ลึกลับ พลังวิเศษ นอกจากนี้ยังมีนักแสดงจากภาพยนตร์เรื่อง IT (ภาพยนตร์แนวลึกลับระทึกขวัญที่สร้างจากนิยายของสตีเฟนคิง) มาสองคน คือ โซเฟีย ลิลลิส กับ ไวแอต โอเลฟฟ์ ซึ่งรับบทเป็นซิดนีย์และแสตนลีย์ในเรื่องนี้ บอกกันตามตรงว่าก่อนดูก็มีความสนใจทั้งคาแรคเตอร์ตัวละครกับแนวซีรีส์ที่ดูเหมือนจะมีกลิ่นอายของทั้ง The End of The Fxxxing World, Stranger Things และ IT หลังจากได้ดูแล้วก็รู้สึกว่ามันมีความเชื่อมโยงและความคล้ายคลึงบางอย่างที่เหมือนเป็นจุดร่วมของซีรีส์ทั้งสี่เรื่องคือความเป็น coming of age ที่มีวัยรุ่นเป็นตัวดำเนินเรื่องหลักบวกกับปมและพล็อตที่แตกต่างกันออกไปอย่างสิ้นเชิง โดยเรื่องราวส่วนใหญ่ของ I’m not okay with this (2020) จะเกี่ยวข้องกับปมและปัญหาด้านอารมณ์ของซิดนีย์เป็นหลัก โดยเธอเป็นคนที่หัวร้อนและอารมณ์ขึ้นง่ายตลอดเวลา รวมทั้งเธอยังมีความรู้สึกว่าที่ ๆ เธออยู่นั้นมันไม่มีอะไรที่จรรโลงใจเอาเสียใจ ให้อารมณ์เหมือนกับว่าเมืองนี้ไม่มีอะไรดีสำหรับเธอ เธอรู้สึกว่าเธอแตกต่าง คนที่เธอพูด ระบายและไตร่ตรองปัญหาชีวิตด้วยตัวของเธอเอง และการที่เธอคิดและอยู่กับความรู้สึกของตนเองทำให้เธอตกผลึกทางความคิดว่าเธอไม่รู้สึกไม่โอเคกับเรื่องแบบนี้ที่เข้ามาในชีวิต ส่วนตัวมองว่า I’m not okay with this (2020) น่าจะอยากปูเนื้อเรื่องให้เราเข้าใจตัวละครว่าตัวละครมีนิสัยอย่างไร พื้นฐานเป็นอย่างไร ก่อนที่เข้าสู่เนื้อเรื่องและปมหลักว่าพลังที่ซิดนีย์มีคืออะไร โดยกว่าเนื้อเรื่องหลักจะโผล่มาก็ท้าย ๆ อีพีแล้ว โดยรวมคิดว่าซีรีส์เรื่องนี้สื่อข้อความที่ต้องการจะสื่อได้ดี เช่น เรื่องเพศ เพื่อน ปัญหาความมั่นใจในตัวเอง ปัญหาในครอบครัว ความสับสนและความเป็นตัวเอง ซึ่งสามารถทำให้เรานั่งดูได้อย่างเพลิน ๆ จนจบซีซั่น ระหว่างนั้นก็มีปมหลักของเรื่องโผล่มาให้เห็นวับ ๆ แวม ๆ แต่ไม่เยอะมาก ทำให้เดาได้ยากว่าเรื่องจะดำเนินไปทางไหนเพราะเมื่อจุดพีคมาถึง ซีรีส์ก็ตัดจบอย่างไร้เยื่อใย

(สปอยล์จุดพีคสำคัญของเรื่อง)
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าเนื้อหาส่วนใหญ่ของ I’m not okay with this (2020) เป็นการปูเนื้อเรื่อง เมื่อดูไปเรื่อย ๆ จึงไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะอยากรอดูว่าปมและเนื้อเรื่องจะไปทิศทางไหน สรุปก็คือดูมาทั้งซีซั่นแต่จุดพีคและปมหลักกลับไปอยู่ที่ตอนสุดท้ายของซีซั่นเรียกได้ว่าไปไปกองอยู่ที่วินาทีสุดท้ายเลยก็ว่าได้ กลายเป็นว่าเมื่อถึงจุดพีค (ที่คาดไม่ถึงว่ามันจะเกิดจริง ๆ) ซีรส์ก็ตัดจบไว้แค่นั้นเลย ตอนดูจบเลยค่อนข้างหัวเสียพอสมควรเพราะซีรีส์เรื่องนี้ให้ความรู้สึกที่ว่า “ทำให้อยากรู้แล้วก็จากไป”
สิ่งที่ชอบในเรื่องนี้ คือ เรื่องจุดพีคที่ไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นจริง ๆ นี่แหละ จุดพีคที่ว่าคือช่วงที่แฟนหนุ่มของดีนา (เพื่อนสนิทของซิดนีย์) ได้กล่าวว่าร้ายเธอและดีนา นั่นจึงทำให้ซิดนีย์ทนไม่ไหว ทำให้เธอโกรธมาก ๆ ถึงขีดสุดและอารมณ์ที่ซิดนีย์พยายามกักเก็บไว้ก็พุ่งเป้าไปที่แฟนหนุ่มก็ดีน่า จากนั้นก็ทำให้แฟนดีนาระเบิดเป็นโกโก้ครั้นช์เลือดสาดกระจาย พอเนื้อเรื่องมาถึงตรงนี้เลยรู้สึกว่ามันชักสนุกขึ้นมาแล้ว ๆ แต่ก็น่าเสียดายที่เราต้องรอดูเรื่องราวภาคต่อในซีซั่นสอง

(สปอยล์)
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าสิ่งที่ประทับใจใน I’m not okay with this คือข้อความที่ต้องการจะสื่อผ่านตัวละครเอกซิดนีย์ที่เพิ่งสูญเสียพ่อไป ซึ่งทำให้เธอคิดไม่ตกว่าทำไมพ่อจึงต้องทิ้งครอบครัวไปด้วย และเมื่อพ่อจากไปแม่ของเธอจึงต้องรับหน้าที่เลี้ยงดูเธอและน้องชายเพียงคนเดียว ซึ่งทำให้แม่มีเวลาให้เธอไม่มากนักและเธอกับแม่ก็ทะเลาะกันอยู่บ่อยครั้ง จนทำให้เธอคิดว่า
“ถ้ากลับกัน คนที่ตายเป็นแม่ อะไร ๆ จะดีกว่านี้มั้ย”
ประโยคนี้ของซิดนีย์ทำให้แม่ของเธอจุกพอสมควรและประโยคนี้เองที่ทำให้ทั้งซิดนีย์และแม่หันมามองปัญหาที่มีอยู่มากขึ้น เพราะทั้งซิดนีย์และแม่ก็ต่างไม่เข้าใจความรู้สึกของกันและกัน โดยทั้งแม่และซิดนีย์เองกเผชิญหน้ากับความลำบากที่แตกต่างกัน แต่กุดร่วมเหมือนกันคือทุกอย่างในครอบครัวที่ดูเหมือนจะแย่ลง
นี่คือปัญหาหนึ่งที่ซิดนีย์รู้สึกว่า “มันไม่โอเคเอาเสียเลย”
ความรู้สึกสับสนในตัวตนของตัวเองในวัยรุ่นเป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาพอสมควร เพราะมันทำให้อารมณ์แปรปรวนและสวิงได้ง่ายและซิดนีย์ก็กำลังเผชิญหน้ากับมันอยู่ มีช่วงหนึ่งที่เธออยู่กับแสตนลีย์ เด็กหนุ่มที่เธอมองว่าประหลาดและค่อนข้างเพี้ยน แต่ตลอดเวลาที่อยู่กับเขานั้นก็รู้สึกว่าเข้ากันได้แบบแปลก ๆ เพราะมีจุดร่วมร่วมกันคือความรู้สึกโดดเดี่ยวและแปลกแยก รวมถึงแสตนลีย์เป็นคนเดียวที่รู้ความลับเรื่องพลังวิเศษของเธอและเป็นห่วงเธอจากใจจริง ๆ
คาแรคเตอร์ที่ประทับใจมากที่สุดในเรื่องคือ แสตนลีย์ เด็กหนุ่มชอบที่จะเป็นตัวของตัวเอง ชอบความวินเทจและการแต่งตัวที่มีสไตล์ ในเรื่องเขาเป็นคนที่อยู่ข้าง ๆ ซิดนีย์และเขาก็แอบชอบเธอด้วย ส่วนตัวชอบคาแรคเตอร์แสตนลีย์ที่มักจะเก็บความรู้สึกเอาไว้คนเดียวและแสดงออกมาแต่ในด้านที่อยากให้คนอื่นเห็น แต่ลึก ๆ แล้วเขาเองก็เป็นคนที่อยู่กับความโดดเดี่ยวและความรู้สึกมากมายแค่เขาไม่เปิดเผยให้คนอื่นรู้

โดยรวมแล้ว I’m not okay with this (2020) เป็นซีรีส์เรื่องนี้ที่ทำออกมาได้ดีทั้งเรื่องของการสื่อข้อความและการผูกเนื้อเรื่องที่ทำให้เราสามารถดูได้โดยไม่เบื่อ ท่ามกลางโทนของซีรีส์ที่ดูเหมือนจะเป็นโทนหม่น ๆ แต่จริง ๆ แล้วซีรีส์ก็แทรกความรู้สึกอื่น ๆ เอาไว้ด้วย ทั้งความอบอุ่นหัวใจที่ตัวละครกำลังมีรักแรก รวมถึงความรักในครอบครัว เป็นอีกหนึ่งซีรีส์ที่ควรดูและนาติดตามและก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าซีซั่นสองจะมาเมื่อไหร่โดยสามารถดู I’m not okay with this (2020) ได้ใน Netflix โดยแต่ละตอนมีความยาวไม่เกินครึ่งชั่วโมงและมีทั้งหมด 7 ตอนด้วยกัน สามารถดูจบได้ภายใน 2 ชั่วโมง กับอีก 36 นาที