หากจะกล่าวถึงผู้กำกับในดวงใจ ชื่อแรกที่ผมนึกถึง คือชื่อของปรมาจารย์ด้านความรัก ถ้าจะเรียกให้ถูก ต้องบอกว่า ปรมาจารย์ด้านความเหงา Makoto Shinkai หรือต้องเรียกว่า “เทพ Makoto Shinkai” ผู้ที่เปรียบเสมือนหลุดออกมาจากโลกอีกใบ เป็นโลกที่เรียกได้ว่า โลกไร้สีสัน สีที่พอจะเรียกเป็นเฉดได้ มีเพียงแค่เฉดสีเทาเท่านั้น เหมือนว่าแกเป็นคนที่เข้าใจความเหงาอย่างถ่องแท้ เอาเป็นว่า ผมปลื้มแกแบบสุด ๆ งานของแกเรียกว่า คุณภาพ ๆ ทั้งนั้น วันนี้มีโอกาสได้กลับมาดูงานเก่า ๆ ของแก เลยอยากชวนทุกคนมาดูกันครับ เป็นงานที่ออกมาตั้งแต่ปี 2013 เป็นงานอนิเมะฉายโรงที่มีความยาวอยู่แค่เพียง 46 นาที แต่แฝงไปด้วยอารมณ์และความรู้สึกตลอดทั้งเรื่อง งานชิ้นนั้นคือ The Garden of Worlds

The Garden of Worlds ผลงานการกำกับลำดับที่ 10 ของผู้ที่หลุดมาจากโลกแห่งความเหงา เทพ Makoto Shinkai ที่ตัวแกเองรับหน้าที่ทั้งกำกับและเขียนเอง เป็นเรื่องราวของเด็กหนุ่มอายุ 15 ปี Takao Akizuki ที่มีความใฝ่ในเป็นช่างทำรองเท้า แม้ครอบครัวจะไม่ได้สนับสนุนมากนัก แต่ก็ไม่ได้ห้ามปรามอะไร ดังนั้น Takao จึงจำเป็นต้องทำงานพิเศษอย่างหนัก เพื่อเก็บเงินในการสานฝันของเขา เขามักจะโดดเรียนในวันฝนตก เพื่อไปที่สวนสาธารณะ Shinjuku Gyoen และฝึกฝนที่จะทำรองเท้า ในวันที่ฝนตกวันหนึ่ง เขาได้พบกับหญิงสาววัยทำงานปริศนา การพบกันของทั้งสองในวันฝนตกนั้นเป็นอะไรที่วิเศษ มันทำให้โลกของทั้งสองมีสีสันมากขึ้น ไม่ช้าก็กลายเป็นกิจวัตร ที่ทั้งสองจะมาเจอกัน ในทุกเช้าวันฝนตก ในขณะที่ Takao โดดเรียนเพื่อมาทำรองเท้า หญิงสาวปริศนาก็โดดงานเนื่องจากปัญหาส่วนตัว เมื่อทั้งสองเริ่มทำความรู้จักกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งสองต่างสอนวิธี “เดิน” ซึ่งกันและกัน

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนครับว่า ครั้งแรกที่ผมดู The Garden of World นี้ มันเมื่อนานมาแล้ว น่าจะตั้งแต่มัธยมปลายได้ ตอนนั้นด้วยความเป็นเด็กด้วยล่ะมั้งครับ ทำให้ไม่ได้ชอบใจหนังเรื่องนี้มากนัก โอเคว่างานภาพนั้นดี เรียกว่าดีมากเลยทีเดียว ตามสไตล์ของเทพ Makoto Shinkai แต่ ณ ตอนนั้นคิดว่า งานเรื่องอื่น ๆ ของแกกลับกระแทกเข้าไปในหัวใจมากกว่าครับ
แต่พอมาตอนนี้ อายุมากขึ้น ประสบการณ์เราก็มากตาม การเสพงานประเภทนี้ ผมมองว่าประสบการณ์เป็นสิ่งสำคัญ การดูหนังเรื่องเดิมในช่วงเวลาที่ต่างกัน นั่นย่อมได้อะไรไม่เหมือนกันอย่างแน่นอนครับ ประโยคที่เขาว่า “อ่านหนังสือเล่มเดิม มันก็จะจบแบบเดิม” อันนี้อาจจะจริง แต่สิ่งที่ได้จากการอ่านอีกรอบ ไม่เหมือนเดิมแน่นอนครับ The Garden of World นี้ก็เช่นเดียวกัน มันช่างงดงาม แต่ก็แฝงไปด้วยความเศร้าโศกอยู่ข้างในด้วย ในเรื่องของเนื้อเรื่อง The Garden of World ไม่ได้เป็นอะไรที่หวือหวา เรียกว่าถ้าให้เล่าให้ฟัง แป๊บเดียวก็เล่าจบแล้ว

แต่ที่เหนือกว่าเนื้อเรื่อง คือเรื่องของตัวละคร อาจารย์ Makoto Shinkai แกเก่งในเรื่องนี้ ผมมองว่า เป็นไม้ตายแกเลยก็ว่าได้ มันช่างนุ่มลึกเหลือเกิน จนแอบคิดว่าเป็นคนจริง ๆ ไปเลย ตัวละครสุดโปรดของผม คือตัวละครหญิงสาวปริศนา หรือในชื่อ Yukari Yukino มันมีประโยคหนึ่งที่ตัวละคร Takao พูดถึงหญิงสาวปริศนาว่า “เธอยืนอยู่ในโลกที่ผมไม่มีวันหยั่งถึง ราวกับว่า เธอเป็นตัวแทนของบางสิ่ง ที่เป็นเหมือนความลับของโลก” มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ครับ ภายใต้รอยยิ้มทุกครั้งที่ทั้งสองตัวละครได้เจอกัน Yukino มีอะไรซ่อนอยู่ในใจลึก ๆ เสมอ เรารับรู้ได้อย่างชัดเจน ถึงความรู้สึกหนักอึ้งที่อยู่ในอกนั้น เราคนดูก็อึดอัด หนังทำให้เราอยู่ในอารมณ์นี้มากขึ้นเรื่อย ๆ และในที่สุดก็เผยให้เราได้เห็นถึงแสงสว่างที่ลอดเมฆดำออกมา กลับทำร้ายคนดูอย่างเรา โดยการปล่อยให้เราระเบิดอารมณ์ออกมาในฉากสุดท้าย ผมรับรองเลยครับ ไม่ว่าคุณจะจิตแข็งขนาดไหน ฉากนี้ ตายเรียบแน่นอน

อีกสิ่งหนึ่งที่อยากจะกล่าวถึง คือเรื่องของงานภาพ หากใครได้ดูผลงานหลาย ๆ เรื่องของอาจารย์ Makoto Shinkai เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่า งานภาพนั้นเป็นอะไรที่คุณภาพทุกเรื่องจริง ๆ หนังเรื่องนี้ฉายเมื่อปี 2013 แต่งานภาพกลับล้ำสมัยกว่างานในสมัยนั้นหลายเรื่องมากทีเดียว ซึ่งในเรื่องงานภาพนี้ ต้องยกความดีความชอบ ให้สตูดิโอ CoMix Wave ที่ร่วมกับอาจารย์ Makoto Shinkai สร้างผลงานดี ๆ แบบนี้มาหลายต่อหลายเรื่อง
โดยสรุปแล้ว ผมรักงานเรื่องนี้มากอย่างไม่ต้องสงสัย การได้ซึมซับอารมณ์ของตัวละคร เป็นอะไรที่ทำให้เราได้รู้จักตนเองมากขึ้น และเมื่อเรารู้จักตนเองมากขึ้น เราจะรู้จักผู้อื่นมากขึ้นด้วยเช่นกัน และ The Garden of World เป็นงานที่ดี ที่จะทำให้เราได้รู้จักตนเอง หากใครอยากได้อนิเมะที่จะทำให้คุณร้องไห้น้ำตาเป็นสายเลือด และงานภาพที่งดงาม ผมขอแนะนำเรื่องนี้เลยครับ ก่อนจบ ผมขอฝากอะไรส่งท้ายไว้ เป็นกลอนญี่ปุ่น แต่เวอร์ชันแปลไทยนะครับ จากเรื่อง The Garden of World นี้แหละครับ
“เสียงฟ้าร้องสนั่นดังทั่วฟ้า
ท้องนภามืดครึ้มไร้หยาดฝน
แม้นพิรุณมิโปรยปรายในบัดดล
จักคงอยู่ขอเพียงเจ้าเคียงกัน”
