หนังเรื่องที่อยากกล่าวถึงในครั้งนี้ เป็นหนังใหญ่ ทั้งในเรื่องของกระบวนการการผลิต รวมไปถึงรางวัลด้วย เพราะเป็นหนังที่ชนะรางวัลที่ยิ่งใหญ่รางวัลหนึ่งในวงการหนัง คือรางวัล Oscar ปี 2014 ในหลายสาขาด้วยกัน ได้แก่ สาขา Best Adapted Screenplay, Best Supporting Actress และสาขาที่ใหญ่สุด Best Picture ด้วย หนังเรื่องนั้นคือเรื่อง “12 Years a Slave” หรือในชื่อภาษาไทยคือ “ปลดแอก คนย่ำคน”

12 Years a Slave เป็นผลงานที่ถูกดัดแปลงมาจากหนังสือที่ใช้ชื่อเดียวกัน ซึ่งฉบับแปลในภาษาไทยใช้ชื่อหนังสือว่า “ฤๅสิ้นสุดมนุษยภาพ” ถูกเขียนขึ้นมาโดย Solomon Northup ในปี 1853 เขาเขียนเรื่องราวของตนเองขึ้นมา เรื่องราวในการเป็นทาสไร้ฝ้ายอยู่ 12 ปี การถูกกดขี่ ใช้ชีวิตเป็นทาส ดังนั้นหนังเรื่องนี้ เป็นเหมือนอัตชีวประวัติของตัวผู้เขียนเอง ทางสตูดิโอผู้สร้างจึงเลือกหนังสือเล่มนี้ นำไปสร้างเป็นหนังเรื่องนี้ให้เราได้ดูกัน

เรื่องราวเกิดขึ้นในช่วงที่เรียกว่า ช่วง pre-Civil War หรือช่วง Antebellum Years ในสหรัฐอเมริกา อยู่ระหว่าง ช่วงปี 1820-1860 Solomon Northup (รับบทโดย Chiwetel Ejiofor) ชายผิวดำที่เป็นอิสระชน ในช่วงยุคนั้นมีอยู่น้อยที่คนผิวดำจะเป็นคนมีการศึกษา และอ่านเขียนได้ วันดีคืนดีเขาได้ถูกชายผิวขาวสองคนหลอก ถูกพรากจากครอบครัว และถูกจับไปขายเป็นทาสใช้แรงงาน โดยเขาต้องถูกเรียกด้วยชื่อ Platt เขาเจอทั้งนายที่มีเมตตา อย่างนายคนแรกของเขา Ford (รับบทโดย Benedict Cumberbatch) เขาเห็นถึงความเก่งกาจของ Platt บางคนถึงขั้นรู้ด้วยซ้ำ ว่า Platt ไม่ใช่ทาสโดยกำเนิด เป็นคนมีการศึกษา แต่ในความเป็นจริง แม้แต่นายของ Platt ก็มีปัญหาการเงิน ไม่สามารถทำให้เขาเป็นไทได้ นายบางคนก็แสนโหดร้ายทารุณ เห็นคนดำเป็นแค่ของใช้ส่วนตัว จะเฆี่ยนตีหรือจะใช้งานเยี่ยงสัตว์ก็ได้ อย่าง Edwin Epps (รับบทโดย Michael Fassbender) Solomon ต้องทำสิ่งที่ควรทำ อย่างการเอาชีวิตรอดให้ได้ ในสังคมที่มีการกดขี่ เหยียบย่ำมนุษย์ด้วยกันแบบนี้ กับการเป็นทาสถึง 12 ปี เขาใช้ชีวิตให้อยู่ได้ทุกวันได้อย่างไร เรื่องนี้เป็นหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจครับ

เรื่องราวของหนังเกิดขึ้นในช่วงยุคที่มีการค้าแรงงานทาสอย่างหนักในสหรัฐอเมริกา หากเทียบกับสำนึกปัจจุบันแล้วเรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นเลย หากให้มองในบริบทของสังคมสมัยนั้น ผมเองก็ไม่อาจทำความเข้าใจในกระบวนการความคิด การไม่เคารพในสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์แบบนี้ได้ คงคิดได้แค่ว่า อาจเป็นเรื่องปกติในสังคมสมัยนั้น การเห็นคนไม่เท่ากันเพียงเพราะว่าสีไม่เหมือนกัน หน้าตาไม่เหมือนกัน หรือแม้แต่ความแตกต่างอื่น ๆ เรื่องนี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งในอดีต จนถึงปัจจุบันที่ดูท่าไม่ได้ลดลงเลย ในทางกลับกันมันกลับเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณหลายเท่าตัวนัก

หนังเรื่องนี้อย่างที่บอกว่าเป็นหนังอัตชีวประวัติของ Solomon Northup แต่วิธีการเล่าเรื่องไม่ได้มีความน่าเบื่อแต่อย่างใด หนังทั้งเรื่องถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างดี เราได้เห็นถึงความทรมาน การเอาชีวิตให้รอด และการกดขี่กันของคน ตัวนักแสดงหลักอย่าง Chiwetel Ejiofor แสดงบทบาทนี้ออกมาได้ดี แต่ที่ผมยกให้ดีมากเลย คงต้องยกให้ Lupita Nyong’o ในบท Patsey ทาสผิวดำที่ถูกนายกดขี่ เป็นได้เพียงเครื่องบำเรอความใคร่ให้นายเท่านั้น การที่ถูกกดขี่ แต่ไม่สามรถแสดงออกไม่ว่าทางใดได้เลย นั่นทำให้เธอเป็นคนเงียบ และพยายามคล้อยตามคนอื่น หรืออาจจะเป็นโดยปกติของคนที่เป็นทาสก็ได้

แม้แต่ในหนังที่แสนสิ้นหวังเหล่านี้ สิ่งหนึ่งที่เราได้เห็นจากตัวละคร Solomon คือ “ความหวัง” สิ่งที่นอกเหนือจากการพยายามมีชีวิตรอดที่ Solomon ทำ อีกสิ่งหนึ่งเลย คือการมีความหวัง หวังว่าสักวันจะเป็นไท หวังว่าสักวันจะได้พบหน้าลูกเมียอันเป็นที่รักอีกครั้งหนังเรื่องนี้กำลังจะบอกเราให้มีหวัง ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายขนาดไหน การเป็นทาสถึง 12 ปีเป็นเวลาที่นาน แต่ความหวังเป็นเพียงสิ่งเดียว ที่ยึดโยงเราไว้ให้อยู่ต่อในโลกอันแสนโหดร้ายใบนี้

หนังเรื่องนี้สร้างมาจากเรื่องจริง บุคคลในประวัติศาสตร์เป็นคนจริง ๆ ดังนั้นสิ่งที่หนังสื่อให้เราเห็น เราสามารถนำมันมาใช้ได้จริง ในสภาพสังคมที่ดูเหมือนจะสิ้นหวัง ความหวังเป็นสิ่งที่เราเองก็จำเป็นต้องมีเช่นกัน เฉกเช่นตัวละคร Solomon สุดท้ายแล้วเมื่อเราเป็นไทในโลกแล้ว เราถึงจะช่วยผู้อื่นได้ หากเรายังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เราก็ช่วยใครไม่ได้ และการที่เราจะช่วยเหลือตัวเองได้ ในสถานการณ์ที่มืดแปดด้านแบบนี้ ความหวังเป็นสิ่งสำคัญ ที่เราทุกคนควรมีไว้ครับ หวังว่าทุกคนจะไม่สิ้นหวังจนเกินไป