รวม 10 ความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับการนอนหลับ

ความเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับการนอนหลับ

นอกจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอแล้ว การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอในแต่ละวัน ก็ถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เรามีสุขภาพที่ดีเช่นกัน เราจึงควรให้ความสำคัญกับการนอนหลับ โดยควรนอนหลับพักผ่อนในตอนกลางคืนให้เต็มที่ โดยประมาณ 6-8 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ เพื่อให้คุณมีแรงพอที่จะไปสู้ในวันต่อ ไปได้ แต่คนทั่วไปยังมีความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับการนอนหลับอยู่ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพการนอน และทำให้ร่างกายและสุขภาพแย่ลง ซึ่งเรารวบรวมมาได้ 10 ข้อ จะมีอะไรบ้างนั้น ไปอ่านกันเลยค่ะ

1นอนเยอะ ๆ ถึงจะดี

บางคนเข้าใจผิดว่าการนอนหลับพักผ่อนเยอะ ๆ ถึงจะดี เพราะได้นอนหลับเต็มที่ แต่สำหรับบางคนที่นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ นอนหลับไม่สนิท หรือนอนหลับไม่ลึกพอ การนอนเกิน 8 ชั่วโมงไม่ใช่เรื่องที่ดี เพราะอาจจะทำให้ปวดหัวและรู้สึกง่วงกว่าเดิม จึงต้องควรจัดสภาพแวดล้อมและปรับพฤติกรรมของตัวเองก่อนนอนให้เหมาะสม เพื่อให้การนอนหลับมีคุณภาพ แม้ว่าจะนอนไม่ครบ 8 ชั่วโมง แต่หากหลับสนิท หลับลึก การนอนหลับครั้งนั้นก็ถือว่าเป็นการนอนหลับที่มีคุณภาพได้เช่นกัน

2ถ้าฝันแปลว่าหลับสนิท

ตรงกันข้ามการฝันขณะนอนหลับ แปลว่าคุณนอนหลับไม่สนิท แม้ว่าร่างกายจะได้พักผ่อน แต่สมองยังคงทำงานอยู่ หากเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จะทำให้สุขภาพของคุณแย่ลงได้ อาจทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า หลงลืมง่าย เนื่องจากสมองไม่ได้พักอย่างเต็มที่ ซึ่งสาเหตุของการฝัน อาจเนื่องมาจากความเครียด ความวิตกกังวล ความกลัว หรือการรับประทานยาบางตัว ก็ทำให้เรานอนหลับไม่สนิทและเกิดความฝันขึ้นได้ เราจึงควรหาทางผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่าง ๆ หรือควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติม

3นอนกรนแปลว่าหลับสนิท

การนอนกรนนอกจากจะรบกวนคนอื่นที่ร่วมนอนให้ห้องเดียวกันแล้ว ยังลดประสิทธิภาพการนอนหลับของตัวคุณเองอีกด้วย ซึ่งการนอนกรนอาจเกิดมาจากปัญหาสุขภาพ มีโรคประจำตัว หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบหายใจ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้ ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต ดังนั้นจึงไม่ควรปล่อยปะละเลยอาการนอนกรน ควรหาวิธีต่าง ๆ เพื่อที่จะแก้ไข หรือเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง ก็จะดีต่อสุขภาพของคุณและคนรอบข้าง

4อดนอนวันธรรมดา แล้วไปนอนชดเชยวันหยุดได้

เป็นความเข้าใจผิดแบบเต็ม ๆ สำหรับการไปนอนชดเชยในวันหยุด ซึ่งนอกจากจะไม่ช่วยให้ร่างกายได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอแล้ว ยังทำให้ระบบร่างกายรวนอีกด้วย เพราะวันเสาร์อาทิตย์คนเรามักจะนอนเยอะมากกว่าวันธรรมดา ทำให้สมองสับสน บางคนอาจปวดหัว หรือมีอาการอื่น ๆ ตามมา หากนอนหลับไม่พอในวันธรรมดาที่ต้องทำงาน ทางเลือกที่ดีกว่าคือการงีบหลับระหว่างวันในช่วงพักเที่ยง ก็จะทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่าและสดชื่นขึ้นได้ โดยควรงีบหลับไม่เกิน 20 นาที เพราะอาจจะทำให้เกิดอาการมึนแทน และส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานช่วงบ่าย หรืออาจจะเผลอหลับเกินช่วงเวลาพักเที่ยง จนทำให้เป็นที่เพ่งเล็งของเจ้านายได้ ซึ่งนั่นคงไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่

5ถ้านอนไม่หลับ ให้อยู่บนเตียงไปเรื่อย ๆ

หากใครที่เข้านอนแล้ว แต่ดันเกิดอาการนอนไม่หลับ ไม่ว่าจะข่มตายังไงก็ไม่รู้สึกง่วงเลยสักนิด การนอนอยู่บนเตียงต่อไปเรื่อย ๆ จะช่วยทำให้หลับได้น้อยกว่าการลุกขึ้นไปหากิจกรรมเบา ๆ ทำ แล้วค่อยกลับมานอนใหม่ โดยหากเข้านอนไป 15 นาทีแล้วยังไม่หลับ ควรลุกขึ้นเดินไปเดินมา หรือทำกายบริหารเบา ๆ หรืออาจจะอ่านหนังสือที่มีเนื้อหาไม่หนักจนเกินไป แล้วพอเริ่มรู้สึกง่วง จึงค่อยกลับไปนอนใหม่ ก็จะช่วยให้คุณหลับได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

6นอนให้ครบ 7-8 ชั่วโมงเป็นใช้ได้

บางคนชอบนอนดึกแล้วตื่นสายจนเป็นนิสัย ซึ่งอาจจะทำให้เรารู้สึกไม่กดดันเวลานอน มีอิสระในชีวิตมากขึ้น แต่อาจทำให้สุขภาพของคุณย่ำแย่ลงได้ หากคุณชอบนอนดึกอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะการนอนหลับหลังเที่ยงคืน แม้ว่าคุณจะนอนครบ 7-8 ชั่วโมง แต่พอตื่นขึ้นมากลับรู้สึกง่วง อ่อนเพลีย ปวดหัว มึน เหมือนยังนอนไม่พอ บางคนอาจจะกลับไปนอนต่อก็มี ซึ่งเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ไม่ดีเท่าไหร่นัก เพราะโดยปกติร่างกายจะหลั่งโกรทฮอร์โมนในช่วงเวลาประมาณ 4 ทุ่มถึงตี 2 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะแก่การพักผ่อนนอนหลับมากที่สุด เพราะเจ้าโกรทฮอร์โมนนี้เองจะช่วยซ่อมแซมและฟี้นฟูสุขภาพร่างกายของเราให้กลับมาแข็งแรง พร้อมรับกับวันใหม่ได้อย่างสดใสนั่นเอง

7นอนน้อยกว่า 5 ชั่วโมง ก็ไม่เป็นไร

บางคนให้ความสำคัญกับการทำงานและการหาเงินมากกว่าสุขภาพร่างกายของตัวเอง จนละเลยการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ โดยเอาเวลานอนไปทำงาน เพื่อที่ต้องการจะหารายได้ให้มากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ดีในมุมมองหนึ่ง แต่ในทางกลับกัน ก็จะทำให้ร่างกายของคุณแย่ลงเรื่อย ๆ จนอาจเกิดอาการป่วย ต้องเข้าโรงพยาบาล แล้วเงินที่คุณหามาได้นั้น ก็ต้องมาจ่ายให้กับค่ารักษาพยาบาลแทน ดังนั้นทุกคนจึงไม่ควรนอนน้อยกว่า 5 ชั่วโมงนั่นเอง

8ดื่มแอลกอฮอล์ก่อนนอน จะทำให้หลับง่ายขึ้น

บางคนเคยลองดื่มแอลกอฮอล์ก่อนนอน แล้วรู้สึกว่าหลับง่ายหรือหลับสบาย แต่ผลการศึกษากลับพบว่าการดื่มแอลกอฮอล์จะช่วยให้หลับดีในช่วงต้น ๆ ของการนอน แต่จะทำให้ตื่นกลางดึกและอาจนอนหลับต่อไม่ได้ และแอลกอฮอล์ยังกระตุ้นให้เกิดการปัสสาวะ จึงต้องลุกขึ้นมาเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ แม้ว่าบางคนอาจจะนอนหลับได้ดีตลอดคืน แต่เมื่อใช้วิธีนี้ไปเรื่อย ๆ นานไประบบการทำงานของร่างกายและสมองจะผิดปกติ ส่งผลให้สุขภาพแย่ลงและอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะสมองเสื่อมลงได้เช่นกัน ทางที่ดีควรเปลี่ยนเป็นการดื่มนมอุ่น ๆ ก่อนนอนแทนจะดีกว่า เพราะในนมมีสารช่วยกระตุ้นให้ร่างกายนอนหลับได้ดีขึ้นนั่นเอง

9ดูทีวีก่อนนอน ทำให้หลับสบาย

บางคนติดนิสัยชอบดูทีวีหรือเล่นโทรศัพท์มือถือก่อนนอน เพราะเข้าใจว่าเป็นการผ่อนคลายอย่างหนึ่ง ทำให้รู้สึกไม่เครียด และบางทีอาจจะรู้สึกสนุกตื่นเต้นไปกับเนื้อหาเหล่านั้นด้วย แต่ความจริงดูทีวีและโทรศัพท์มือถือจะปล่อยแสงสีฟ้า ซึ่งช่วยกระตุ้นสมองให้ตื่นตัว และจะไปรบกวนการทำงานของฮอร์โมนเมลาโทนิน ที่ช่วยให้ร่างกายรู้สึกง่วงและนอนหลับนั่นเอง นอกจากนั้นเนื้อหาบางอย่างอาจทำให้รู้สึกตื่นเต้น น่ากลัว สนุก ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการนอน เพราะก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัวเช่นกัน แม้ว่าบางคนอาจจะหลับ แต่ก็อาจจะเก็บเนื้อหาเหล่านั้นไปฝันต่อ ทำให้นอนหลับได้ไม่สนิท ทางที่ดีควรเปลี่ยนเป็นการอ่านหนังสือที่มีเนื้อหาเบา ๆ จะดีกว่า เพราะไม่มีแสงสีฟ้า และช่วยให้มีสมาธิ ผ่อนคลายมากขึ้นด้วย

10เลื่อนนาฬิกาปลุก จะช่วยให้พักผ่อนได้นานขึ้น

คนในวัยเรียนและวัยทำงานแทบทุกคน จะต้องตั้งนาฬิกาปลุกเพื่อกันไม่ให้ตัวเองตื่นสาย จนไปเรียนหรือไปทำงานไม่ทัน และบางคนก็มักจะติดนิสัยชอบเลื่อนนาฬิกาปลุกไปเรื่อย ๆ เพราะยังไม่ตื่นเต็มตา แล้วคิดว่านอนต่ออีกสัก 5-10 นาที ก็จะช่วยทำให้พักผ่อนได้นานขึ้น แต่ก็เป็นความเข้าใจที่ผิด การที่ร่างกายตื่นแล้วกลับไปหลับต่อ แล้วตื่นอีกทีนั้น จะส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าผลดี จะทำให้ร่างกายและสมองสับสน อาจทำให้สมาธิสั้น อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย อ่อนเพลีย ไม่สดชื่นได้ ดังนั้นเราจึงควรลุกขึ้นจากเตียงทันที ตั้งแต่เสียงนาฬิกาปลุกแรกดังขึ้น

สรุปส่งท้าย

จะเห็นว่ามีถึง 10 ความเข้าใจผิด ๆ ด้วยกันเกี่ยวกับการนอนหลับ ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อคุณภาพการนอน ร่างกายและสมองของคุณทั้งสิ้น รู้อย่างนี้แล้วต่อไปก็ควรจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมก่อนการนอน เช่น ทำให้ห้องมืดและเงียบที่สุด ไม่เล่นทีวีและมือถือก่อนนอน ปรับอุณหภูมิห้องให้พอดี ไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป หาหมอนที่ไม่สูงไม่ต่ำเกินไป ที่นอนไม่นิ่มและไม่แข็งจนเกินไป อย่ากินอาหารหนัก ๆ ก่อนนอน และควรเว้นจากการรับประทานอาหารอย่างน้อย 3-4 ชั่วโมงก่ ไม่ออกกำลังกายแล้วนอนทันที โดยควรเว้นประมาณ 3-4 ชั่วโมงเช่นกัน เพื่อให้ร่างกายไม่ตื่นตัวจนเกินไป และเข้านอนประมาณ 4-5 ทุ่ม ไม่ควรเกินเที่ยงคืน เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้คุณมีสุขภาพที่ดีได้ เพราะได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มที่นั่นเอง