โรคซึมเศร้าคืออะไร
โรคซึมเศร้าคือโรคชนิดหนึ่งที่มีอยู่จริง ผู้ป่วยไม่ได้คิดไปเอง สามารถสแกนสมองดูสารเคมีที่ไม่สมดุลได้ โดยผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะมีปัญหาการหลั่งเซโรโทนิน โดปามีน และนอร์อิพิเนฟรินได้น้อย หรือที่เรียกว่าสารแห่งความสุขนั่นเอง ซึ่งจะส่งผลต่อความคิด อารมณ์ พฤติกรรม และร่างกาย ทำให้บุคคลนั้นเปลี่ยนแปลงไป โดยอาจสังเกตได้ไม่ง่ายนัก เพราะผู้ป่วยบางคนอาจทำเหมือนกับว่าตัวเองเข้มแข็ง ไม่เป็นไร ฉันยังทนได้ แต่หากอาการรุนแรงขึ้น อาจมีภาวะอื่นร่วมด้วย เช่น หูแว่ว ประสาทหลอน ซึ่งสามารถสังกตได้อย่างชัดเจน และควรไปพบจิตแพทย์โดยด่วน เพื่อรีบทำการรักษา ก่อนที่อาการจะแย่ไปกว่าเดิม

โรคซึมเศร้าเกิดจากอะไร
โรคซึมเศร้าเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุหลัก ๆ ที่มักจะทำให้เป็นโรคซึมเศร้าจะได้แก่
- กรรมพันธุ์ กรรมพันธุ์หรือพันธุกรรมเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เป็นโรคซึมเศร้าได้สูง โดยพบว่าฝาแฝดคนหนึ่งที่เป็นโรคซึมเศร้า ฝาแฝดอีกคนมีโอกาสที่จะเป็นโรคเดียวกันได้ถึง 60-80% เลยทีเดียว และพ่อแม่ที่เป็นโรคซึมเศร้า ลูกก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคซึมเศร้าได้มากถึง 20% แต่ในบางครั้งก็อาจจะเป็นเพราะปัจจัยอื่นร่วมด้วยเช่นกัน
- พฤติกรรม บางคนมีพฤติกรรมหรือลักษณะนิสัยที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า เช่น ชอบอยู่คนเดียว เก็บตัว ไม่สุงสิงกับใคร มองโลกในแง่ร้าย ชอบตำหนิตัวเอง เป็นต้น ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่ทำให้เป็นโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน
- เหตุการณ์ในชีวิต บางคนอาจประสบพบเจอกับเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิต เช่น สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป ถูกทำร้ายทางจิตใจและร่างกาย ตกงาน หย่าร้าง โดนกลั่นแกล้ง ถูกทอดทิ้ง เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้าได้ทั้งนั้น
- สภาพแวดล้อม การเลี้ยงดูโดยพ่อแม่ที่เข้มงวดจนเกินไป หรือการถูกบังคับโดยผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความเครียด รู้สึกกดดันจนเก็บกด หากนานวันเข้า ก็จะกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้ในที่สุด
- การป่วยเป็นโรคบางชนิด การที่เรามีโรคประจำตัว หรือเกิดการเจ็บไข้ได้ป่วย สามารถนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าได้ เช่น โรคไมเกรน ถ้าเป็นเรื้อรัง สมองก็จะเสียความสมดุล ทำให้กลายเป็นโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน
- ได้รับอุบัติเหตุทางสมอง บางคนอาจจะปกติดีทุกอย่าง แต่เกิดได้รับอุบัติเหตุทางสมองขึ้น เช่น ล้มหัวกระแทกพื้น อุบัติเหตุทางท้องถนน ทำให้สมองกระทบกระเทือนและได้รับบาดเจ็บ จึงส่งผลต่อสารเคมีในสมอง ทำให้พฤติกรรม ความคิดเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งสามารถนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้เช่นกัน
ลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

- อารมณ์เปลี่ยนไป แน่นอนว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้า มักจะมีอารมณ์เศร้าตามชื่อ รู้สึกท้อแท้ อ่อนแอ ผิดหวัง หดหู่ อ่อนไหวง่าย ร้องไห้บ่อย รู้สึกสะเทือนใจง่าย รู้สึกเบื่อหน่าย เป็นต้น แต่ในทางกลับกัน คนที่เป็นโรคซึมเศร้าก็สามารถมีอารมณ์ตรงกันข้ามกับความเศร้าได้เช่นกัน โดยอาจจะขี้หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย อารมณ์ร้าย โมโหบ่อย ก็เป็นได้เหมือนกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในอารมณ์ของโรคซึมเศร้านั่นเอง
- ความคิดเปลี่ยนไป ข้อนี้อาจจะสังเกตยากสักหน่อย เพราะผู้ป่วยมักไม่ค่อยพูดถึงความคิดของตัวเองออกมา แต่ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า หากสังเกตความคิดตัวเองดี ๆ มักจะพบว่ามีความคิดที่ค่อนข้างไปในทางลบ คือมองโลกในแง่ร้าย ไม่สดใสเหมือนก่อน ไม่มั่นใจในตนเอง คิดว่าตนเองไม่มีคุณค่า เป็นภาระของคนอื่น ท้อแท้หมดหวังในชีวิต มองไม่เห็นทางออก รู้สึกล้มเหลว มองอะไรก็ดูแย่ไปหมด ไม่รู้สึกภูมิใจในตนเอง อยากหายไปจากสถานการณ์นั้น ๆ หรืออาจจะเข้าขั้นอยากฆ่าตัวตายก็เป็นได้
- ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเปลี่ยนไป หากนิสัยก่อนป่วยของคนที่เป็นโรคซึมเศร้าชอบความสนุกสนาน มักจะทักทายกับคนอื่นก่อน ชอบพูดคุย ร่าเริง สดใส ชอบพบปะสังสรรค์กับผู้คน แต่ต่อมาเริ่มมีทีท่าเปลี่ยนไป เช่น เก็บตัว ไม่ยอมออกไปไหน ไม่ค่อยพูดค่อยจา รู้สึกหม่นหมอง ไม่มีชีวิตชีวาเหมือนแต่ก่อน ก็อาจเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน เว้นแต่ว่าบางคนอาจมีบุคลิกภาพชอบเก็บตัว คือเป็นคนโลกส่วนตัวสูงอยู่แล้ว ก็อาจจะสังเกตได้ยากสักหน่อย แต่ผู้ป่วยจะเริ่มรู้ตัวเองว่าไม่มีความสุขกับการอยู่คนเดียวเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งควรมาพบจิตแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย ก่อนที่อาการจะแย่ลงไปกว่าเดิม จนทำให้รักษาได้ยากขึ้น
- ไม่มีสมาธิ ความจำแย่ลง ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะส่งผลต่อการเรียนและการทำงาน มักจะเหม่อลอย ไม่ค่อยมีสมาธิ หรือสมาธิสั้น ทำอะไรนาน ๆ ไม่ค่อยได้ ต้องเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นก่อน ความจำแย่ลง ขี้หลงขี้ลืม จำไม่ได้ว่าวางของไว้ที่ไหน หรือเจ้านายสั่งอะไร ดูหนังไม่รู้เรื่อง อ่านหนังสือไม่เข้าหัว ทำงานได้ช้าลง ซึ่งบางครั้งก็อาจจะเกิดจากความเครียดได้เช่นกัน โดยต้องเช็คอาการให้แน่ชัดอีกที จึงควรปรึกษาแพทย์จะดีที่สุด
- มีอาการต่าง ๆ ทางร่างกาย ใช่ว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะมีแต่อาการทางจิตใจเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงร่างกายอีกด้วย โดยผู้ป่วยมักจะมีอาการอ่อนเพลีย ไม่ค่อยมีแรง ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว ท้องอืด ท้องผูก อาหารไม่ย่อย นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ หรือมีปัญหาในการนอน น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นต้น เนื่องจากร่างกายกับจิตใจเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กัน หากจิตใจแย่ลง ร่างกายก็จะแย่ตามไปด้วยโดยอัตโนมัติ
- มีอาการโรคจิต ข้อนี้ถือว่าเป็นอาการของโรคซึมเศร้าขั้นรุนแรง โดยก่อนหน้านั้นอาจจะมีสัญญาณเตือนต่าง ๆ แต่ผู้ป่วยละเลย ไม่ใส่ใจ หรือคิดว่าตัวเองอดทนไหว ก็จะทำให้เกิดอาการทางจิต เช่น หูแว่ว ประสาทหลอน คิดว่าจะมีคนมาทำร้าย ได้ยินเสียงคนด่าหรือคนอื่นคุยกับตนเอง เห็นภาพหลอน เป็นต้น ซึ่งหากบุคคลใกล้ชิดรับรู้หรือสังเกตได้ ก็ควรนำผู้ป่วยส่งถึงมือแพทย์โดยเร็วที่สุด เพราะเสี่ยงต่อการที่ผู้ป่วยจะทำร้ายร่างกายตนเองและผู้อื่น ซึ่งหมายความว่าบุคคลนั้นไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้าเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่มีอาการทางจิตร่วมด้วยนั่นเอง
โรคซึมเศร้ามีอาการอย่างไร

การสังเกตลักษณะและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป อาจยังจะไม่ชัดเจนเท่าไหร่ ทางการแพทย์จึงมีเกณฑ์การตัดสินว่าบุคคลคนนั้นเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ โดยมักจะมีอาการดังต่อไปนี้ ต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไป ก็เข่าข่ายว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า
- รู้สึกเศร้า เบื่อหน่าย ท้อแท้ หรือหงุดหงิดอย่างต่อเนื่อง
- ไม่สนใจกิจกรรมที่เคยชอบทำ หรือรู้สึกหมดสนุก เช่น การดูหนัง เล่นเกม อ่านหนังสือ เป็นต้น
- นอนไม่ค่อยหลับ หรืออาจจะหลับมากเกินไป หลับ ๆ ตื่น ๆ นอนหลับไม่ได้เต็มที่
- น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเกิดจากการเบื่ออาหารหรือกินอาหารจนมากเกินไป
- รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง เหนื่อยง่าย
- ใจลอย ไม่มีสมาธิในการเรียนหรือการทำงาน ตัดสินใจอะไรได้ยากขึ้น
- กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข หรือเชื่องช้าลงจนสังเกตได้
- รู้สึกตัวเองไร้ค่า รู้สึกผิดบาปและโทษตำหนิตัวเองอยู่ตลอดเวลา
- มีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง เช่น กรีดข้อมือ ต่อยกำแพง ต่อยกระจก หรือตั้งใจทำให้ตัวเองบาดเจ็บ
- มีความคิดเกี่ยวกับความตายอยู่บ่อย ๆ คิดอยากตาย หรือวางแผนการฆ่าตัวตายไว้ล่วงหน้า
การรักษาโรคซึมเศร้า
หากบุคคลใดก็ตามได้รับคำวินิจฉัยจากแพทย์แล้วว่าเป็นโรคซึมเศร้า ก็จะมีการรักษาผู้ป่วยต่อไป โดยหากอาการไม่หนักมาก ก็อาจจะให้พูดคุยกับนักจิตวิทยา นักจิตเวช หรือตัวจิตแพทย์เอง เพื่อปรับความคิด ปรับทัศนคติ ให้มองปัญหาต่าง ๆ ในมุมมองใหม่ หรือให้ผู้ป่วยได้ระบายในสิ่งที่อัดอั้นตันใจมานาน พูดให้กำลังใจ ให้ความหวังกับผู้ป่วย ช่วยให้ผู้ป่วยคลายความทุกข์หรือความกังวลลงได้ หรือเบื้องต้นแพทย์อาจจะให้ยานอนหลับ หรือยาคลายกังวล ซึ่งเป็นยาพื้นฐาน ช่วยปรับอารมณ์ของคนไข้ให้ดีขึ้น และยังช่วยเรื่องปัญหาการนอนไม่หลับอีกด้วย แต่ถ้าหากใครไม่ถูกกับยานอนหลับตัวนั้น ๆ ก็สามารถกลับไปปรึกษาแพทย์ เพื่อขอลดหรือปรับยาลงได้เช่นกัน
สำหรับบุคคลที่มีอาการมากหน่อย แพทย์ก็จะให้ยาต้านเศร้าหรือยาแก้ซึมเศร้า เพื่อเพิ่มสารเซโรโทนินและสารอื่น ๆ ในร่างกาย ปรับสารเคมีในสมองให้สมดุลมากขึ้น โดยมียาหลายตัวให้เลือกใช้ ซึ่งอาจจะมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้ในระยะแรก ๆ เช่น น้ำหนักขึ้นหรือลงอย่างรวดเร็ว อ่อนเพลียง่าย นอนไม่หลับ ฝันร้าย คอแห้ง ปากแห้ง ท้องผูก วิงเวียน อาเจียน เป็นต้น หากผู้ป่วยทนรับผลข้างเคียงไม่ไหว ก็สามารถขอแพทย์ปรับเปลี่ยนหรือลดยาได้ แต่โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักจะมีอาการดีขึ้นหลังได้รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง โดยในผู้ป่วย 10 คน จะมีคนที่กินยาแล้วอาการดีขึ้นถึง 8-9 คน สำหรับ 2-3 รายที่เหลือ อาจจะเป็นผู้ป่วยที่มีอาการหนัก หรือเป็นโรคอื่นร่วมด้วย ก็จะต้องมีการเพิ่มยาหรือปรับยาให้เข้ากับอาการของโรคนั้น ๆ อีกที
การให้กำลังใจผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
คนใกล้ชิด คนรอบข้าง และญาติผู้ป่วยจะต้องไม่พูดจาบั่นทอนจิตใจ ตำหนิ ว่าร้าย หรือพูดให้ผู้ป่วยรู้สึกกดดัน ควรพูดจาให้กำลังใจ หรือให้ผู้ป่วยระบายความในใจออกมาแทน โดยคำพูดที่ควรพูดกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะได้แก่
- เธอไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวนะ ยังมีฉันอยู่ข้าง ๆ เสมอ
- ฉันอาจไม่เข้าใจเธอ แต่ฉันเป็นห่วงและจะอยู่ข้าง ๆ เธอ
- เธออยากให้เราช่วยอะไรไหม บอกเรามาได้เลยนะ
- ชีวิตของเธอสำคัญสำหรับฉันมากนะ
- เธอโอเคไหม ไหวหรือเปล่า มีอะไรระบายกับเราได้นะ
- ฉันเป็นกำลังใจให้เธอเสมอ อย่าลืมว่ายังมีฉันอยู่ตรงนี้
- อีกไม่นานเธอจะค่อย ๆ ดีขึ้น
- ฉันรักเธอนะ ไม่ว่าเธอจะเป็นยังไงก็ตาม
- มากอดกันไหม
- เธอไม่ได้บ้า เธอก็แค่เศร้า

ซึ่งก็มีบางประโยคเหมือนกันที่คนรอบข้างอาจจะหวังดีต่อผู้ป่วย จึงพูดออกไป แต่กลับกลายว่าเป็นการพูดจาทำร้ายจิตใจผู้ป่วยให้แย่กว่าเดิมแทน ซึ่งประโยคเหล่านั้นมักจะได้แก่
- เลิกคิดมากได้แล้ว เลิกเศร้า/ร้องไห้ได้แล้ว
- จะเศร้า/ร้องไห้ไปถึงเมื่อไหร่กัน
- ดูคนอื่นที่เขาแย่กว่าเธอสิ
- ใคร ๆ ต่างก็เคยผ่านเรื่องเหล่านี้กันทั้งนั้น
- เข้าใจนะว่าเธอรู้สึกอย่างไร เพราะฉันก็เคยเป็น
- เธอก็แค่คิดไปเองเท่านั้น
- ทำไมถึงยังไม่หายซะที
- ทำไมไม่ไปหาหมอ
- ทำไมถึงทำไม่ได้
- อดทนเข้าไว้สิ
- เรื่องแค่นี้เอง
- แย่จังเลย
- เสียใจด้วยนะ
- เดี๋ยวมันก็ผ่านไป
- เดี๋ยวก็ดีขึ้นเอง
- พยายามให้มากกว่านี้สิ
- อย่าท้อ
- ต้องทำได้
- สู้ ๆ นะ
จะเห็นว่ามีหลายคำหลายประโยคมากที่ไม่ควรพูดกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ซึ่งบางครั้งในความคิดเราอาจจะเป็นคำพูดที่ให้กำลังใจ แต่ในสภาวะของผู้ป่วย มันอาจจะทำให้เขารู้สึกแย่ลงหรือโดดเดี่ยวมากกว่าเดิมก็ได้ ที่ไม่มีใครเข้าใจเข้า ไม่รู้ว่าที่ผ่านมาเขาเหนื่อยและพยายามมามากแค่ไหน หรือพูดเหมือนบังคับให้เขาเลิกมีอาการซึมเศร้าและหายไว ๆ ทางที่ดีญาติผู้ป่วยหรือคนใกล้ตัวควรทำความเข้าใจและศึกษาโรคนี้อย่างละเอียด หรืออาจรับแนะนำจากจิตแพทย์ของผู้ป่วยโดยตรง เพื่อที่จะได้ให้กำลังใจเขาได้อย่างถูกต้องนั่นเอง