โรคสมาธิสั้น คืออะไร อาการเป็นแบบไหน รักษาได้อย่างไร

โรคสมาธิสั้น

โรคสมาธิสั้นคือ โรคที่ทำให้ขาดสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งนาน ๆ อยู่ไม่นิ่ง ไม่อยู่กับที่ หุนหันพลันแล่น ซึ่งเกิดจากสมองส่วนหน้าที่ทำหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมและสมาธิทำงานได้ลดลง ขาดประสิทธิภาพในการทำงาน โดยมักเกิดกับเด็กอายุ 3-6 ปี และจะแสดงออกชัดเจนเมื่ออายุ 6-12 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ต้องทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น เพราะต้องไปโรงเรียนนั่นเอง และจากข้อมูลสถิติของประเทศไทยพบว่า เด็กผู้ชายในชั้นประถมศึกษามีโอกาสที่จะป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นมากกว่าเด็กหญิงถึง 3 เท่าเลยทีเดียว บางคนหากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะส่งผลในระยะยาว หรือเป็นโรคสมาธิสั้นในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ได้อีกด้วย

สาเหตุของโรคสมาธิสั้น

  • กรรมพันธุ์ จากข้อมูลทางสถิติพบว่าโรคสมาธิสั้นโดยส่วนใหญ่เกิดจากกรรมพันธุ์ถึงร้อยละ 75 เลยทีเดียว โดยครอบครัวหรือญาติพี่น้องที่มีคนป่วยเป็นโรคสมาธิสั้น จะมีโอกาสที่ลูกหลานจะป่วยเป็นโรคเดียวกันได้ด้วย
  • การเลี้ยงดู การให้เด็กอยู่หน้าจออิเล็กทรอนิกส์เป็นเวลานาน ๆ ไม่ว่าจะเป็น มือถือ แท็บเล็ต โน้ตบุ๊ค คอมพิวเตอร์ หรือหน้าจอทีวี รวมถึงการเลี้ยงดูที่ไม่มีกฎระเบียบชัดเจน เลี้ยงแบบตามใจ ไม่มีการควบคุม หรือมีปัญหาในการเลี้ยงดู ก็อาจทำให้เด็กเป็นโรคสมาธิสั้นได้เช่นกัน ซึ่งจะเรียกว่า สมาธสั้นเทียม นั่นเอง
  • สารพิษเข้าสู่ร่างกาย จากการศึกษาพบว่าแม่ที่สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ตอนตั้งครรภ์ รวมถึงการอยู่ใกล้กับสารเคมีที่เป็นอันตราย เช่น ตะกั่ว เป็นต้น จะทำให้สารพิษถูกดูดซึมเข้าสู่ทารกได้ ซึ่งมีผลกระทบต่อการเติบโตของสมอง และทำให้โตมาเป็นเด็กสมาธิสั้นได้
  • โครงสร้างของสมองผิดปกติ พบว่าเด็กที่คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่าเกณฑ์ หรือได้รับอุบัติเหตุมีอาการบาดเจ็บทางสมอง สามารถส่งผลให้เด็กเป็นโรคสมาธิสั้นได้

อาการของโรคสมาธิสั้น

  • วอกแวก อยู่ไม่นิ่ง กระวนกระวาย
  • ซุกซนเกินเหตุ เล่นได้ทั้งวันไม่เหนื่อย
  • เหม่อลอย ขี้ลืมง่าย ทำของหายบ่อย
  • เบื่อง่าย ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งใดได้นาน
  • ไม่ตั้งใจฟัง ขณะมีคนอื่นพูดคุยด้วย
  • พูดไม่หยุด ชอบพูดแทรก
  • ทำอะไรนาน ๆ ไม่ได้ หันไปทำอย่างอื่นแทน
  • ไม่ชอบทำอะไรที่ต้องใช้ความพยายามมาก ๆ
  • ไม่รอบคอบ ผิดพลาดบ่อย
  • หุนหันพลันแล่น ใจร้อน
  • รอคอยอะไรนาน ๆ ไม่ค่อยได้
  • จัดลำดับความสำคัญไม่ได้
  • ไม่ชอบทำตามกฎระเบียบหรือข้อบังคับ

การวินิจฉัยโรคสมาธิสั้น

ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล รวมถึงตัวผู้ป่วยเองต้องคอยสังเกตพฤติกรรมของเด็กหรือตนเองอยู่เสมอ และคอยจดบันทึกไว้เป็นข้อมูลให้กับแพทย์ โดยจะต้องมีอาการที่แสดงออกมาอย่างชัดเจนอย่างน้อย 2 สถานการณ์ขึ้นไป ที่ทำให้มีปัญหาในการเข้าสังคม ไม่ว่าจะกับครอบครัว เพื่อนฝูง ครูอาจารย์ หรือเพื่อนร่วมงาน ทั้งที่บ้าน ที่โรงเรียน และที่ทำงาน

การรักษาโรคสมาธิสั้น

เข้ารับการบำบัด

การให้ความรู้เกี่ยวกับโรคสมาธิสั้น อธิบายให้ทั้งเด็กและผู้ปกครองเข้าใจว่าโรคสมาธิสั้นคืออะไร อาการเป็นแบบไหน และมีวิธีรักษาอย่างไร พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้เด็กและผู้ปกครองได้พูดคุยเพื่อหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสม เพื่อที่จะได้ให้มีความเข้าใจในตัวโรคอย่างถูกต้อง และจะทำให้เด็กให้ความร่วมมือในการบำบัดรักษาอย่างสมัครใจ

ปรับพฤติกรรม

โดยผู้ปกครองทั้งพ่อและแม่จะต้องให้ความร่วมมือในการปรับพฤติกรรมเด็ก ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีอาการที่ดีขึ้น โดยมีวิธีต่าง ๆ เหล่านี้ ได้แก่ พูดให้สั้นและกระชับ สื่อสารให้ได้เนื้อความ ทำตารางเวลาให้ลูก เพื่อให้ลูกรู้จักจัดระเบียบและวางแผนการใช้เวลาของตนเอง โดยผู้ปกครองอาจจะช่วยดูในช่วงแรก ๆ กำจัดสิ่งกระตุ้นที่จะทำให้ลูกวอกแวกเวลาที่ต้องใช้สมาธิ เช่น เวลาเด็กทำการบ้าน ให้ปิดโทรทัศน์ และเอาโทรศัพท์มือถือไปไว้ไกล ๆ และจำกัดการใช้เวลาอยู่หน้าจอมือถือ แท็บเล็ต หรือโทรทัศน์ ให้ไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมง หากิจกรรมที่สร้างสรรค์และมีประโยชน์ให้เด็กทำแทน เช่น การออกกำลังกาย การเล่นกีฬาที่เด็กชื่นชอบ เป็นต้น โดยพ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกด้วย จะต้องไม่เล่นแต่มือถือ และทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันกับลูก ชมเชยหากเด็กทำได้ดี และลงโทษด้วยการลดค่าขนม หรือลดเวลาการอยู่หน้าจอแทนการดุด่าว่ากล่าว หรือการทุบตี

รับประทานยา

ยาจะช่วยปรับสารสื่อประสาทในสมองให้สมดุลมากยิ่งขึ้น จะทำให้เด็กมีสมาธิจดจ่อได้ดีขึ้น สามารถควบคุมตนเองได้มากขึ้น ลดอาการอยู่ไม่นิ่ง สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้ โดยกลุ่มยาในประเทศไทยที่ใช้รักษาโรคสมาธิสั้นจะได้แก่ ยาออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท ยาไม่ออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท สำหรับเด็กที่ไม่สามารถทนผลข้างเคียงของยากลุ่มแรกได้ ยาต้านเศร้า สำหรับเด็กที่มีปัญหาด้านอื่นร่วมด้วย ยากลุ่ม Alpha 2 agonist สำหรับเด็กที่มีอาการหุนหันพลันแล่น อารมณ์ร้อน โมโหง่าย ซนมากกว่าปกติ และกล้ามเนื้อกระตุก โดยแพทย์จะต้องเป็นผู้จ่ายยาเท่านั้น และจะต้องรับประทานตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด รวมถึงมาพบหมอตามนัดเพื่อประเมินผลการรักษาอีกด้วย

ผู้ปกครองหลายคนอาจจะเป็นกังวลหากลูกของคุณป่วยเป็นโรคสมาธิสั้น แต่หากได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี พ่อแม่ตั้งใจศึกษาหาข้อมูลและให้ความร่วมมือกับการรักษาเป็นอย่างดี เด็กรับประทานยาและปรับพฤติกรรมอย่างเหมาะสม เด็กก็จะสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมและโลกภายนอกได้ รวมถึงสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขอีกด้วย