โรคที่มากับหน้าหนาว มีอะไรบ้าง และมีวิธีดูแลตนเองอย่างไร?

โรคหน้าหนาว

เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายปี ลมหนาวก็เริ่มพัด อากาศก็เริ่มเปลี่ยน บางคนอาจปรับตัวไม่ทันจนล้มไข้ได้ป่วยไปก็มี อาจเนื่องมาจากร่างกายไม่แข็งแรง ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือร่างกายอาจปรับตัวไม่ทันก็ตามที แม้ว่าคนที่มีสุขภาพแข็งแรงก็ตาม ต่างก็ต้องเฝ้าระวังโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะช่วงนี้ก็คือโรคที่มากับหน้าหนาว ซึ่งเป็นโรคตามฤดูกาลที่คนส่วนใหญ่มักจะเป็นบ่อย ๆ โดยจะมีโรคอะไรบ้างนั้น รวมถึงจะมีวิธีรักษาและดูแลตนเองอย่างไรบ้าง ไปอ่านกันเลยค่ะ

โรคไข้หวัด

ปกติโรคไข้หวัดสามารถเกิดได้ทุกฤดู แต่จะเกิดในช่วงหน้าหนาวได้ง่ายกว่า 2 เท่า เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อร่างกายและภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ทำให้เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายยิ่งขึ้น ทำให้มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม คันคอ อาจมีไข้ต่ำ ๆ ปวดหัว และปวดกล้ามเนื้อ

วิธีรักษาและดูแลตนเอง

ส่วนใหญ่โรคไข้หวัดมักจะเป็นแล้วหายเองได้ วิธีดูแลตนเองง่าย ๆ คือให้ดื่มน้ำอุ่นบ่อย ๆ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย หากตัวร้อนและมีไข้ให้รับประทานยาลดไข้ทุก 4-6 ชั่วโมง ปริมาณตามน้ำหนักตัว และให้เช็ดตัวทุกชั่วโมงเพื่อระบายความร้อนในร่างกาย แต่หากมีไข้ติดต่อกันหลายวัน ให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คอาการอย่างละเอียด

โรคไข้หวัดใหญ่

โรคไข้หวัดใหญ่มีอาการคล้ายโรคไข้หวัดธรรมดา แต่มีอาการที่รุนแรงกว่า เกิดจากการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลัน จากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า อินฟลูเอ็นซาไวรัส (Influenza virus) ซึ่งทำให้มีอาการหนาวสั่น มีอาการไอ จาม น้ำมูกไหล มีไข้ปานกลางจนถึงสูง อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อและปวดศีรษะอย่างรุนแรง อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย

วิธีรักษาและดูแลตนเอง

โรคไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปี โดยผู้ที่ควรได้รับวัคซีนคือ เด็ก ผู้สูงอายุ แพทย์ พยาบาล ผู้ที่มีโรคประจำตัว และผู้ที่มีความเสี่ยงสูง วิธีการดูแลตนเองคือควรดื่มน้ำอุ่นให้มาก พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รับประทานยาตามอาการ หากมีไข้ให้กินยาลดไข้ทุก 4-6 ชั่วโมง เช็ดตัวทุกชั่วโมงเพื่อระบายความร้อนออกจากร่างกาย หากรับประทานยาแล้วไม่ดีขึ้น ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด

โรคปอดบวม

เกิดจากปอดติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ทำให้มีหนองและสารปนเปื้อนอยู่ในถุงลม ทำให้เนื้อปอดบริเวณนั้นไม่สามารถรับออกซิเจนได้ตามปกติ ส่งผลให้ผู้ป่วยหายใจติดขัด หายใจไม่ค่อยออก แน่นหน้าอก ไอ จาม มีเสมหะ คัดจมูก หนาวสั่น มีไข้สูงติดต่อกันตั้งแต่ 2 วันขึ้นไป พบบ่อยได้ในผู้สูงอายุ เด็กเล็กอายุประมาณ 5-10 ปี ผู้ป่วยที่มีโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ โรคหอบหืด ผู้ที่มักป่วยเป็นไข้หวัดเรื้อรัง และคนที่มีภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำหรืออ่อนแอ

วิธีรักษาและดูแลตนเอง

หากพบว่ามีอาการปอดบวมให้รีบมาพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และรับยาปฏิชีวนะไปรับประทานตามแพทย์สั่ง เพื่อกำจัดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียที่อยู่ในปอด รวมทั้งยาลดไข้ ยาลดเสมหะ ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ ยาขยายหลอดลมทั่วไป หรือยาที่รักษาตามอาการ ส่วนวิธีการดูแลตัวเองให้ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ อยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก รักษาความสะอาดทั้งของตัวเองและผู้ดูแลอยู่เสมอ ร่วมถึงการล้างมือบ่อย ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคหรือเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย สำหรับเด็กเล็กควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดบวม เพราะร่างกายของเด็กเล็กยังไม่แข็งแรงพอเมื่อเทียบเท่ากับผู้ใหญ่นั่นเอง

โรคหัด

เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กเล็กอายุประมาณ 5-9 ปี เกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า รูบีโอราไวรัส (Rubeola virus) เป็นโรคติดต่อได้ง่ายผ่านทางการไอจามรดกันโดยตรง ผ่านทางน้ำลาย หรือหายใจเอาละอองของเหลวที่ลอยมาตามอากาศเข้าไป มักจะระบาดในช่วงปลายฤดูหนาวและต้นฤดูร้อน อาการจะคล้ายกับไข้หวัดคือ มีไข้สูง น้ำมูกไหล ไอแห้งมาก ตาและจมูกแดง มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย โดยผื่นจะค่อย ๆ มีสีเข้มขึ้นและโตขึ้นเรื่อย ๆ จะมีตุ่มใส ๆ ขึ้นตามบริเวณปาก กระพุ้งแก้ม และฟันกราม หลังจากผื่นออกประมาณ 2-3 วัน อาการก็จะดีขึ้นเรื่อย ๆ และเมื่อครบประมาณ 7 วัน ผื่นก็จะหายไปเอง โดยที่ต้องระวังคืออาจมีอาการแทรกซ้อน เช่น ต่อมน้ำเหลืองหลังใบหูบวม ปอดบวม อุจจาระร่วง สมองอักเสบ เป็นต้น เนื่องมาจากการติดเชื้อนั่นเอง

วิธีรักษาและดูแลตนเอง

โรคหัดยังไม่มียารักษาโดยตรง แต่ไม่ใช่โรคร้ายแรง เพราะสามารถหายเองได้ โดยจะรักษาตามอาการ เช่น ให้รับประทานยาแก้ไข ลดน้ำมูก เป็นต้น แต่หากพบอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น หายใจสั้น เจ็บหน้าอกขณะหายใจ ชักเกร็ง เป็นต้น ควรรีบพาตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์โดยเร็ว แต่โรคนี้มีวัคซีนที่สามารถฉีดป้องกันไว้ก่อนได้ตั้งแต่ยังเป็นทารก นั่นก็คือ วัคซีนรวมโรคหัด หัดเยอรมัน และคางทูม ซึ่งสามารถฉีดได้เมื่อเด็กมีอายุ 9-12 เดือน และฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่อเด็กมีอายุ 6 ขวบ

อุจจาระร่วง (ที่มาจากไวรัสโรต้า)

โรคอุจจาระร่วงที่มาพร้อมกับฤดูหนาวที่ระบาดมากที่สุดในช่วงเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ ส่วนใหญ่มาจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า โรต้า (Rotavirus) มักพบในเด็กเล็กอายุไม่ถึง 5 ขวบ โดยในกลุ่มที่พบได้บ่อยที่สุดอยู่ในช่วงอายุประมาณ 6-12 เดือน เนื่องจากมีร่างกายและภูมิคุ้มกันที่ยังไม่แข็งแรงเพียงพอ และมีพฤติกรรมชอบหยิบสิ่งของเข้าทางปาก โดยเชื้อไวรัสจะเข้าสู่ทางปาก ผ่านทางกระเพาะอาหาร และไปแบ่งตัวที่ลำไส้ อาการจะมีไข้ อ่อนเพลีย ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย และถ่ายเหลวอย่างหนัก บางรายอาจเสียน้ำจนมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะช็อกหรือเสียชีวิตได้ก็มี

วิธีรักษาและดูแลตนเอง

ปัจจุบันยังไม่มียาที่รักษาโรคนี้โดยตรง จึงเป็นการรักษาตามอาการ ถ้าป่วยให้ดื่มน้ำผสมเกลือแร่บ่อย ๆ หากไม่สามารถดื่มเองได้ ต้องให้เกลือแร่ผ่านทางเส้นเลือดแทน แต่มีวัคซีนที่ช่วยป้องกันไวรัสโรต้าได้ โดยเป็นชนิดแบบรับประทาน ซึ่งสามารถรับวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 2 เดือนเป็นต้นไป โดยวัคซีนจะช่วยให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเอง และสามารถลดความรุนแรงของโรคได้ แต่ที่สำคัญคือต้องรักษาความสะอาดและสุขอนามัยทั้งภายในและภายนอกบ้านอยู่เสมอ ล้างมือให้เด็กหรือให้เด็กล้างมือเองบ่อย ๆ หากสามารถทำได้ หลีกเลี่ยงไปยังสถานที่ชุมชนแออัด ก็จะสามารถช่วยป้องกันความเสี่ยงจากโรคนี้โดยเบื้องต้นได้

โรคไข้สุกใส

โรคไข้สุกใสเกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า วาริเซลลา (Varicella virus) มักระบาดช่วงปลายฤดูหนาว คือเดือนมกราคม-มีนาคม ติดต่อโดยผ่านทางการสัมผัสตุ่มน้ำใสโดยตรง สัมผัสของใช้ของผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ ช้อนส้อม ผ้าห่ม ที่นอน เป็นต้น หรือการสูดเอาละอองจากตุ่มน้ำเข้าไปในร่างกาย มีระยะฟักตัวประมาณ 10-20 วัน ส่วนใหญ่พบในเด็กที่มีอายุประมาณ 5-15 ปี และพบแต่ในผู้ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อาการแรกเริ่มจะคล้ายกับไข้หวัด คือมีไข้ต่ำ ๆ ปวดเมื่อยร่างกาย เบื่ออาหาร และจะเริ่มมีตุ่มน้ำใส ๆ ขึ้นตามร่างกาย ซึ่งจะมีอาการคัน และจะกลายเป็นหนอง จากนั้นแผลจะแห้งและตกสะเก็ดหายไปเองภายในระยะเวลาประมาณ 5-10 วัน และอาการต่าง ๆ จะค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ

วิธีรักษาและดูแลตนเอง

โดยโรคนี้จะรักษาตามอาการ หากมีไข้ให้รับประทานยาลดไข้ทุก 4-6 ชั่วโมง ปริมาณตามน้ำหนักตัว ห้ามแคะ แกะ เกาะ บริเวณที่เป็นตุ่ม เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบและเป็นแผลเป็นได้ ส่วนใหญ่โรคนี้จะอาการไม่รุนแรงและไม่มีโรคแทรกซ้อน จึงไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ก็ได้ แต่ควรระวังไม่ใช้ของร่วมกับผู้ป่วย และไม่สัมผัสตัวผู้ป่วยโดยตรง แต่โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก ผู้ที่เป็นแล้วจึงสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันสำหรับโรคไข้สุกใส โดยฉีดได้ตั้งแต่เด็กที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ที่ยังไม่เป็นโรคนี้ก็สามารถฉีดได้เช่นกัน

โรคที่มากับฤดูหนาวนี้เป็นโรคติดต่อหรือโรคที่เกิดมาจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย แม้ว่าส่วนใหญ่แล้วจะสามารถหายเองได้ แต่การไม่เจ็บไข้ได้ป่วยย่อมดีต่อสุขภาพร่างกายของตัวเองและคนที่เรารักมากที่สุด ดั้งนั้นจึงควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทั้ง 5 หมู่ ดื่มน้ำสะอาดในปริมาณเหมาะสม ออกกำลังกายเป็นประจำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ส่วนเด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคประจำตัว และผู้สูงอายุ ควรดูแลร่างกายเป็นพิเศษ และหมั่นรักษาความสะอาดของร่างกายและพื้นที่ที่อยู่อาศัยอยู่เสมอ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคต่าง ๆ เหล่านี้นั่นเอง