โรคอัลไซเมอร์หรือโรคความจำเสื่อม เป็นหนึ่งในโรคที่เกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อม โดยส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป อาการที่ชัดเจนคือเกิดการหลงลืมและบกพร่องทางความคิด เช่น ลืมวัน เวลา สถานที่ จำคนที่ดูแลหรือคนที่อยู่ด้วยกันทุกวันไม่ได้ ความสามารถที่จะโต้ตอบและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นลดลง ไม่ค่อยมีสมาธิ เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ช้าลง มีปัญหาในเรื่องของการทำกิจวัตรประจำวันและการสื่อสาร ไม่สามารถแยกถูกผิดได้ ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ ซึ่งเกิดจากความเสื่อมของโปรตีนชนิดหนึ่งในสมอง การอักเสบของเซลล์สมอง รวมถึงการลดลงของสารสื่อประสาทในสมองนั่นเอง
อาการของโรคอัลไซเมอร์ แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่
- ระยะที่ 1 : ผู้ป่วยเริ่มเกิดความหลงลืม ความจำถดถอย แต่ยังไม่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันมากนัก เช่น ลืมว่าอุ่นอาหารไว้ ลืมปิดเตารีด ลืมปิดน้ำ หาของไม่เจอ หลงทางในที่คุ้นเคย เป็นต้น
- ระยะที่ 2 : ผู้ป่วยจะเริ่มสูญเสียความทรงจำ โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นใหม่ ๆ แต่อาจจดจำเรื่องในอดีตได้ เริ่มมีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดหรือซึมเศร้าง่าย อาจมีอาการทางจิตร่วมด้วย เช่น เดินออกจากบ้านเองโดยไม่มีจุดหมาย เริ่มมีปัญหาในการทำกิจวัตรประจำวัน จะต้องมีคนคอยช่วยเหลือดูแลอย่างใกล้ชิด
- ระยะที่ 3 : เป็นระยะที่รุนแรง โดยผู้ป่วยจะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ตอบสนองต่อสิ่งรอบตัวช้าลง เคลื่อนไหวได้น้อยลง ไม่ค่อยพูดจา ต้องมีคนคอยช่วยทำกิจวัตรต่าง ๆ ให้ตลอด เช่น กินข้าว อาบน้ำ เป็นต้น เพราะมีปัญหาการเดิน การกลืน กลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่อยู่ อาจจะต้องนอนติดเตียง บางรายอาจมีอาการหลงผิด เห็นภาพหลอน มีอารมณ์ก้าวร้าวรุนแรง รวมถึงภูมิคุ้มกันของร่างกายจะอ่อนแอลง ซึ่งมักจะทำให้เสียชีวิตด้วยโรคแทรกซ้อน อย่างการติดเชื้อ เป็นต้น และเสียชีวิตลงในที่สุด
โดยเฉลี่ยระยะเวลาตั้งแต่แพทย์เริ่มวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์จนเสียชีวิต จะมีระยะเวลาประมาณ 8-10 ปี

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคอัลไซเมอร์
- อายุ จากสถิติพบว่าในผู้ที่มีอายุ 85 ปีขึ้นไป มีผู้ที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ถึงร้อยละ 25 เลยทีเดียว
- กรรมพันธุ์ พบว่าคนในครอบครัวที่มีผู้ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ มีโอกาสที่ลูกหลานในครอบครัวจะเป็นด้วยมากยิ่งขึ้น
- โรคเรื้อรัง มักพบว่าคนที่มีโรคเรื้อรัง อย่างโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไต จะยิ่งเพิ่มอัตราการป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์สูงขึ้น
- พฤติกรรม คนที่ไม่ค่อยมีการใช้ความคิด ไม่รับผิดชอบในหน้าที่การงาน ใช้ชีวิตไปเรื่อยเปื่อย ก็มีโอกาสที่จะป่วยเป็นโรคนี้ด้วยเช่นกัน
การวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์
ในเบื้องต้นแพทย์จะทำการซักประวัติจากผู้ป่วย ผู้ดูแล หรือคนใกล้ชิด เกี่ยวกับการดูแลช่วยเหลือตนเองและความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน และพฤติกรรมที่บ่งบอกถึงความเสื่อมถอยลงของสมอง จากนั้นแพทย์จะทำการทดสอบความจำ เพื่อประเมินระยะและความรุนแรงของโรค โดยอาจจะให้ใช้กระดาษหน้าเดียวที่มีข้อความเกี่ยวกับความรู้ทั่วไป การคิดเลข เป็นต้น และอาจจะมีการตรวจร่างกายเพื่อวินิจฉัยว่าภาวะสมองเสื่อมที่เป็นอยู่ มีสาเหตุมาจากอะไร เช่น การตรวจเลือด การสแกนสมองด้วยเครื่อง CT Scan หรือ MRI
การรักษาโรคอัลไซเมอร์
แพทย์อาจรักษาด้วยการให้ยาไปรับประทาน เพื่อชะลอความเสื่อมของสมอง ร่วมถึงอาการทางจิตเวชที่ผู้ป่วยเป็น สำหรับรายที่อาการรุนแรงขึ้น ก็อาจจะรักษาด้วยการเครื่องกระตุ้นสมองด้วยกระแสไฟฟ้าอย่างอ่อน เพื่อกระตุ้นความจำและเพิ่มการทำงานของสมอง สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมจากสาเหตุอื่น แพทย์ก็จะรักษาที่สาเหตุของอาการป่วยเป็นหลัก

การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์
- กำหนดตารางกิจวัตรประจำวันให้ผู้ป่วย โดยให้ทำแต่ละอย่างตรงเวลาและเหมือนเดิมในทุก ๆ วัน ไม่ควรปรับเปลี่ยนตารางบ่อย ๆ เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความสับสนได้
- พูดคุยกับผู้ป่วยบ่อย ๆ ให้ผู้ป่วยได้ใช้ความคิด เวลาคุยกับผู้ป่วยให้เรียกชื่อผู้ป่วยเสมอ เพื่อให้ผู้ป่วยจำได้ และพยายามเล่าเรื่องต่าง ๆ จากอดีตมาถึงปัจจุบัน เช่น เรื่องคนในครอบครัว เรื่องญาติพี่น้อง เรื่องเพื่อน เรื่องงานที่ผู้ป่วยเคยทำ หรือสถานที่ที่ผู้ป่วยเคยไป เป็นต้น
- เวลาพูดกับผู้ป่วยให้พูดช้า ๆ และชัดเจน ไม่ตะโกนหรือพูดเสียงดังเกินไป อาจใช้ภาษากายร่วมด้วย เช่น การสบตา การยิ้ม เป็นต้น
- อาจให้เล่นเกมต่าง ๆ เช่น เกมในมือถือ แท็บเล็ต เป็นต้น หรืออาจชวนผู้ป่วยสวดมนต์ ทำกิจกรรมง่าย ๆ โดยไม่พยายามกระตุ้นหรือฝืนผู้ป่วยจนมากเกินไป เพราะอาจเกิดความเบื่อหน่ายหรือการต่อต้านได้
- ให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมร่วมกันกับคนในครอบครัว พาผู้ป่วยออกไปนอกบ้าน พบปะเพื่อนฝูงเป็นครั้งคราว เพื่อให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกเหงาหรือโดดเดี่ยว
- จัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้ปลอดภัย ไม่วางของเกะกะที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ เก็บของมีคมหรืออุปกรณ์ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ติดตั้งไฟให้มีแสงสว่างเพียงพอ ไม่ควรปรับเปลี่ยนการจัดบ้านหรือย้ายของที่ผู้ป่วยต้องใช้ประจำบ่อย ๆ
- ให้ผู้ป่วยออกกำลังกายเบา ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มกำลังของมัดกล้ามเนื้อ และลดอาการข้อติด
- คอยสนับสนุนและให้กำลังใจผู้ป่วยให้ทำกิจวัตรที่สามารถทำด้วยตนเองได้ เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกมีกำลังใจในการใช้ชีวิต รู้สึกว่าตนเองมีค่า และรู้สึกไม่เป็นภาระผู้อื่น
- หลีกเลี่ยงการใช้คำพูดหรือพฤติกรรมที่อาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย ซึ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกหงุดหงิด โกรธเคือง ผิดหวัง หรือซึมเศร้าได้ เช่น การด่าทอ ต่อว่า การใช้อารมณ์กับผู้ป่วย เป็นต้น