ขึ้นชื่อว่ามะเร็ง ก็ต้องถือว่าเป็นโรคร้ายแรง รักษาให้หายขาดได้ยาก เป็นโรคที่น่ากลัว ไม่มีใครอยากเป็น แต่มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นโรคมะเร็งชนิดหนึ่งที่รักษาให้หายได้ง่ายกว่ามะเร็งชนิดอื่น ๆ หากพบเจอได้เร็วจากการไปตรวจสุขภาพประจำปีนั่นเอง โดยกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก คือผู้ชายสูงอายุประมาณ 65 ปีขึ้นไป แต่ควรจะเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งนอกจากการตรวจพบโดยแพทย์แล้ว เรายังสามารถสังเกตอาการผิดปกติต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง โดยคนที่ป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากมักจะมีอาการดังต่อไปนี้
อาการของมะเร็งต่อมลูกหมาก
- ปัสสาวะติดขัด ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะไหลช้าลง
- ปัสสาวะไม่สุด ปัสสาวะกระปริดกระปรอย
- กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะบ่อยขึ้น โดยเฉพาะเวลากลางคืน
- รู้สึกแสบร้อนขณะปัสสาวะ
- ปัสสาวะมีเลือดปน
- ปวดหลังส่วนล่าง ปวดข้อสะโพก หรือปวดบริเวณเชิงกรานตลอดเวลา
- เหนื่อย หอบ หัวใจเต้นเร็ว
- คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ
- อ่อนแรง อ่อนล้า ชาบริเวณขาลงไป
- น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ

ระยะของมะเร็งต่อมลูกหมาก
- ระยะที่ 1 : เป็นระยะเริ่มต้นของโรค ตรวจไม่พบก้อนเนื้อจากการคลำผ่านทางทวารหนัก ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็ก พบก้อนเนื้ออยู่ที่ต่อมลูกหมากเพียงข้างเดียว ยังไม่มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
- ระยะที่ 2 : ก้อนมะเร็งมีขนาดโตขึ้น ค่อนข้างมีความรุนแรง สามารถคลำพบได้ผ่านทางทวารหนัก พบก้อนเนื้ออยู่ที่ต่อมลูกหมากทั้ง 2 ข้าง ยังไม่มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
- ระยะที่ 3 : เซลล์มะเร็งลุกลากไปยังอวัยวะและเนื้อเยื่อที่อยู่ข้างเคียง มีความรุนแรงมากขึ้น
- ระยะที่ 4 : เป็นระยะสุดท้ายที่มีความรุนแรงอย่างมาก เนื่องจากเซลล์มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย เช่น กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ตรง เนื้อเยื่อในช่องท้องน้อย ต่อมน้ำเหลือง ร่วมถึงกระดูก ไขสันหลัง สมอง ปอด เป็นต้น
การตรวจวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมาก
- ตรวจซักประวัติทั่วไป : แพทย์จะซักถามอาการทั่วไปของร่างกายว่ามีความผิดปกติอย่างไรบ้าง และจดบันทึกเป็นข้อมูลเพื่อประเมินอาการ และส่งตรวจในขั้นต่อไป
- การเจาะเลือด : เป็นการเจาะเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็ง PSA (Prostate specific antigen test) ซึ่งเป็นสารมะเร็งที่สร้างโดยต่อมลูกหมาก หากค่า PSA สูงกว่าปกติ ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากสูง
- ตรวจทางทวารหนัก : เป็นการคลำหาก้อนเนื้อผ่านทางทวารหนัก เนื่องจากต่อมลูกหมากอยู่ใกล้กับทวารหนัก โดยแพทย์จะสวมถุงมือและสอดนิ้วเข้าไปเพื่อตรวจดูต่อมลูกหมากว่ามีขนาด รูปร่าง พื้นผิว ที่ผิดปกติใด ๆ หรือไม่
- ตรวจอัลตราซาวด์ : แพทย์จะใช้เครื่องมือชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็ก สอดเข้าไปทางทวารหนัก แล้วใช้คลื่นเสียงถ่ายภาพต่อมลูกหมากออกมาเพื่อตรวจดูต่อไป
- ตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก : แพทย์จะใช้อุปกรณ์อัลตราซาวด์นำทาง และใช้เข็มขนาดเล็กสอดตามเข้าไปเพื่อเจาะต่อมลูกหมากเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อไปตรวจหาเซลล์มะเร็งในห้องปฏิบัติการต่อไป

การรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก
- การตรวจติดตามเพื่อเฝ้าระวังโรค : สำหรับผู้ป่วยในระยะเริ่มต้น แพทย์อาจจะไม่ได้ทำการรักษาโดยทันที โดยจะเริ่มจากการตรวจติดตามผลและเฝ้าระวังก่อน หากพบว่าก้อนเนื้อมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น อาจจะพิจารณาให้เข้าสู่ขั้นตอนการรักษา
- การผ่าตัด : เป็นการรักษาที่คาดว่ามะเร็งจะแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น เป็นการผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากออกไปทั้งหมด รวมถึงเนื้อเยื่อบริเวณโดยรอบ และต่อมน้ำเหลืองบางส่วน ซึ่งอาจมีผลข้างเคียงทำให้กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ อวัยวะเพศไม่แข็งตัว เป็นต้น เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีร่างกายแข็งแรง
- การฉายรังสีหรือการฝังแร่ : เป็นการฉายรังสีพลังงานสูงไปตรงบริเวณต่อมลูกหมาก เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งจากภายนอก และการฝังแร่ขนาดเท่าเม็ดข้าวไปในเนื้อเยื่อของต่อมลูกหมาก และให้แร่นั้นแผ่รังสีออกมา เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งจากภายใน แต่ก็อาจมีผลข้างเคียงเช่นกัน คือ อวัยวะเพศไม่แข็งตัว กลั้นปัสสาวะไม่ค่อยได้ ปัสสาวะบ่อย เป็นต้น
- การรักษาด้วยฮอร์โมน : เนื่องจากฮอร์โมนเพศชายหรือฮอร์โมนเทสโทสเตอร์โรน จะทำให้ต่อมลูกหมากโตขึ้น ดังนั้นการรักษาด้วยวิธีนี้จะเป็นการให้ยาเพื่อยับยั้งฮอร์โมน หรือจะผ่าตัดเอาลูกอันฑะออกไปเลยก็ได้ ซึ่งจะทำให้เซลล์มะเร็งหดตัวเล็กลงและโตช้าขึ้น ซึ่งอาจจะมีผลข้างเคียงทำให้ความต้องการทางเพศลดลง หรือกระดูกบางได้ โดยอาจจะใช้วิธีนี้รักษาร่วมกับวิธีอื่น ๆ ด้วยก็ได้
- การรักษาด้วยเคมีบำบัด : เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่นแล้ว หรือเป็นมะเร็งระยะท้าย ๆ นั่นเอง เพื่อให้ยาเคมีส่งไปตามกระแสเลือดและไปทำลายเซลล์มะเร็งตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งวิธีนี้จะช่วยควบคุมอาการต่าง ๆ ของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่ก็มีผลข้างเคียงอยู่หลายอย่าง เช่น ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ผมร่วง ร่างกายอ่อนล้า ไม่อยากอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาจติดเชื้อได้ ซึ่งผลข้างเคียงเหล่านี้สามารถบรรเทาได้ด้วยการใช้ยาตัวอื่นช่วยและป้องกัน โดยขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์

การป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ทุกมื้อ เน้นผักและผลไม้ รวมถึงธัญพืชต่าง ๆ ที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่ผอมหรืออ้วนจนเกินไป
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นประจำทุกสัปดาห์ เฉลี่ยวันละ 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละอย่างน้อย 30 นาทีขึ้นไป
- ปรึกษาแพทย์ที่ตรวจสุขภาพเราเป็นประจำ ให้แพทย์ตรวจหาค่ามะเร็งต่อมลูกหมากทุกครั้ง