โรควุ้นในตาเสื่อม คืออะไร รักษาแบบไหน และป้องกันได้อย่างไร

โรควุ้นในตาเสื่อม

ดวงตาคืออวัยวะสำคัญของร่างกายที่ต้องดูแลและใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะทำหน้าที่ให้เรามองเห็นสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ แต่บางครั้งก็อาจเกิดโรคบางอย่างเกี่ยวกับดวงตาของเราได้เช่นกัน ซึ่งในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักเกี่ยวกับโรควุ้นในตาเสื่อมกันว่าเป็นอย่างไร มีอาการแบบไหน และมีวิธีดูแลรักษาอย่างไรกันบ้าง

วุ้นในตาคืออะไร

วุ้นตาเป็นส่วนประกอบหนึ่งของดวงตา มีลักษณะเป็นของเหลวใส ไม่มีสี คล้ายเจล โดยมีน้ำเป็นส่วนประกอบหลักประมาณ 98-99% ที่เหลือเป็นโปรตีน คอลลาเจน กรดไฮยาลูโรนิก และเกลือแร่ต่าง ๆ วุ้นตาจะอยู่หน้าต่อจอประสาทตาและแนบติดไปกับผิวของจอประสาทตา

วุ้นในตาเสื่อมเป็นแบบไหน

คนที่เป็นวุ้นในตาเสื่อม หรือมีภาวะวุ้นตาเสื่อม มักจะเกิดได้กับผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีสายตาสั้นมาก ๆ หรือเคยได้รับอุบัติเหตุทางดวงตา ทำให้วุ้นในตาเหลว หดตัวลง และมีลักษณะสีที่ขุ่นมากขึ้น เมื่อแสงตกกระทบผ่านดวงตา จึงทำให้เห็นเป็นจุดดำหรือมีลักษณะคล้ายหยากไย่ลอยไปมาอยู่ในลูกตา

อาการของโรควุ้นในตาเสื่อม

  • มองเห็นจุดสีดำหรือหยากไย่สีดำลอยไปมาอยู่ในลูกตา เมื่อมองไปที่ผนังสีขาว หรือท้องฟ้า รวมทั้งเวลากลอกตาไปมา
  • ในระยะแรกอาจจะสังเกตเห็นเงาดำเหล่านี้ชัดเจน แต่พอระยะเวลาผ่านไป เราจะเริ่มชินและสังเกตเห็นได้ยาก เพราะสมองเริ่มเรียนรู้และปล่อยให้เงาเหล่านี้ผ่านไป
  • มองเห็นแสงไฟหรือแสงวาบคล้ายแสงแฟลช โดยจะเห็นได้อย่างชัดเจนในตอนกลางคืน หรือตอนหลับตา เนื่องจากวุ้นตาเหลวและหดตัวลงมาก จึงทำให้มีการดึงรั้งผิวจอตาจนเกิดเป็นแสงแฟลชนั่นเอง โดยอาการเหล่านี้จะหายไปเมื่อจอตาถูกดึงรั้งจากวุ้นในตาลดลง
  • ในรายที่มีอาการรุนแรง วุ้นตาอาจจะดึงรั้งเส้นเลือดในจอตาจนเกิดการฉีกขาดได้ ซึ่งอาจทำให้จอตาลอก และสูญเสียการมองเห็นในที่สุด

สาเหตุของการเกิดวุ้นในตาเสื่อม

  • วุ้นตาเสื่อมหดตัวเล็กลง ส่วนใหญ่พบได้ในคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปี หรือผู้ที่มีสายตาสั้นมาก และผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุทางดวงตา เส้นใยในวุ้นตาจะหนาขึ้น ร่วมกับวุ้นตาที่หดตัวเล็กลง ทำให้เห็นเป็นเส้นทึบสีดำลอยไปมา ซึ่งไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด
  • วุ้นตาด้านหลังหลุดลอกออกจากจอประสาทตา ส่วนใหญ่พบได้ในคนที่มีอายุมากกว่า 70 ปี เมื่อวุ้นตาด้านหลังเสื่อม จะมีการหดตัวและหลุดลอกออกจากจอประสาทตา ทำให้เห็นเป็นจุดดำ ๆ เป็นเส้น ๆ หรือเป็นวงกลม ๆ ลอยไปมาบริเวณลูกตา
  • จอประสาทตาฉีกขาด เกิดจากการดึงรั้งของจอประสาทตาที่ติดกันแน่นจนฉีกขาด ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเห็นหยากไย่ลอยไปมาจำนวนมากอย่างฉับพลัน และอาจมองเห็นแสงวาบคล้ายแสงแฟลชในตอนมืดหรือตอนกลางคืน ซึ่งหากปล่อยไว้อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร
  • เลือดออกในวุ้นตา เป็นภาวะที่อันตราย ต้องไปพบแพทย์โดยด่วน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้กับผู้ที่มีภาวะเบาหวานขึ้นจอตา ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุทางดวงตา หรือผู้ป่วยจอประสาทตาเสื่อม ซึ่งอาจจะมีอาการตามืดมัวลงอย่างฉับพลัน เห็นเงาหยากไย่ลอยไปมา และมีเลือดออกมาบังลูกตาอย่างเห็นได้ชัด
  • ผนังลูกตาชั้นกลางด้านหลังอักเสบ ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อ หรือภาวะแพ้ภูมิตัวเอง ซึ่งมักมีอาการเห็นหยากไย่จำนวนมากร่วมกับมีอาการตามัว
  • การอักเสบภายในดวงตา ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคม่านตาอักเสบ โรคมะเร็งจอประสาทตาในเด็ก การเกิดอุบัติเหตุทางดวงตา เป็นต้น
  • การใช้ยาบางประเภท เช่น ยาโซวิแรกซ์ (Zovirax) ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสงูสวัด เริม อีสุกอีใส โดยมีรายงานพบว่าทำให้วุ้นในตาเสื่อมลงได้
  • เป็นภาวะที่มีมาแต่เกิด ในเด็กบางรายหลอดเลือดในน้ำวุ้นตาอาจหดหายไม่หมดตามพัฒนาการที่ควรจะเป็น จึงทำให้มีเซลล์เม็ดเลือดแดงหลุดเข้ามาในวุ้นตาได้

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดวุ้นในตาเสื่อม

  • มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป
  • มีสายตาสั้นมาก โดยเฉพาะสั้นมากกว่า 600 ขึ้นไป ซึ่งอาจทำให้วุ้นตาเสื่อมเร็วมากกว่าปกติ
  • ได้รับอุบัติเหตุทางดวงตาหรือบริเวณศีรษะ หรือมีแผลและได้รับการบาดเจ็บมาก่อน
  • มีอาการอักเสบในลูกตา
  • เคยได้รับการผ่าตัดตามาก่อน เช่น การผ่าตัดต้อกระจก เป็นต้น
  • ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน แล้วมีภาวะเบาหวานขึ้นจอตา

วิธีรักษาโรควุ้นในตาเสื่อม

โดยปกติโรควุ้นในตาเสื่อมไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อลูกตาและการมองเห็น จึงไม่จำเป็นต้องรักษา เพียงแต่เฝ้าสังเกตอาการและความเปลี่ยนแปลงตามระยะเวลาที่กำหนด แต่ก็มีบางกรณีที่โรคนี้กระทบต่อการมองเห็น ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นกับผู้ป่วยได้น้อยมาก แพทย์ก็จะเลือกทำการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ตามการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งจะดูจากอาการผู้ป่วย และเลือกวิธีที่เหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด ดังนี้

  • การผ่าตัดวุ้นตา เป็นการผ่าตัดเอาวุ้นตาและเศษเนื้อตายออกไป และทดแทนวุ้นตาด้วยสารละลายน้ำเกลือ ซึ่งจะไม่ได้นำวุ้นตาออกไปทั้งหมด และร่างกายของเราสามารถสร้างวุ้นตาขึ้นมาใหม่เองได้หลังการผ่าตัด แต่การผ่าตัดวุ้นตาก็มีความเสี่ยงที่จะมีภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย ซึ่งได้แก่ การเกิดต้อกระจก จอตาลอก จอตาฉีกขาด เลือดออกในตา เป็นต้น ดังนั้นจึงมีวิธีการรักษาทางเลือกแบบใหม่ นั่นก็คือ
  • การทำเลเซอร์วุ้นตา เป็นวิธีการรักษาวุ้นตาเสื่อมที่ง่ายและปลอดภัยกว่าการผ่าตัดวุ้นตา โดยการใช้เลเซอร์ทำลายวุ้นตาเสื่อมหรือเคลื่อนย้ายออกไปจากระยะการมองเห็น แต่วิธีนี้ก็ไม่ได้รับรองผลการรักษา 100% สำหรับบางรายอาจจะได้ผลที่ดีขึ้น แต่กับบางรายอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย หรืออาจไม่มีความแตกต่างเลยก็เป็นไปได้เช่นเดียวกัน

การป้องกันและดูแลรักษาดวงตา

โดยส่วนใหญ่ภาวะวุ้นในตาเสื่อมเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและจากปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งเราสามารถป้องกันได้แต่ปัจจัยภายนอกเท่านั้น เช่น การสวมแว่นตานิรภัย เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการเล่นกีฬาบางชนิด หรือการทำงานที่ต้องอยู่กับเครื่องจักร เป็นต้น และไม่ควรสะบัดศีรษะแรง ๆ เพราะอาจจะกระทบกระเทือนกับจอตาและวุ้นในตาได้ สำหรับผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ต้องคอยหมั่นดูแลและวัดค่าน้ำตาลอยู่เสมอ ที่สำคัญอย่าลืมไปพบจักษุแพทย์อย่างน้อยทุก ๆ 6 เดือนหรือ 1 ปี เพื่อตรวจสุขภาพของจอประสาทตาและวุ้นในตา ซึ่งหากเราพบสิ่งผิดปกติเร็ว ก็ทำให้สามารถเฝ้าสังเกตอาการผิดปกติในดวงตาได้ง่ายยิ่งขึ้น รวมถึงโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับดวงตาอีกด้วย เช่น ต้อกระจก ต้อหิน เป็นต้น หากพบก็จะสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงทีนั่นเอง