แคลเซียมคือแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่จำเป็นต่อร่างกายของเราทุกคน เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและฟัน แต่เมื่อเราโตขึ้นถึงวัยผู้ใหญ่ แคลเซียม 20% จะถูกย่อยสลายภายในร่างกายและถูกสร้างขึ้นใหม่ทุกปี โดยปกติร่างกายของเราไม่สามารถสร้างแคลเซียมได้เอง ต้องได้รับจากสารอาหารภายนอก ซึ่งพบมากได้ในผักใบเขียว เช่น คะน้า บรอกโคลี กะหล่ำปลีเขียว ใบยอ ผลิตภัณฑ์จากนมทุกชนิด เช่น นมวัว นมถั่วเหลือง น้ำเต้าหู้ เต้าหู้ขาว โยเกิร์ต นมเปรี้ยว ธัญพืชบางจำพวก เช่น ถั่วลิสง ถั่วแห้ง ถั่วแระต้ม วอลนัต เมล็ดทานตะวัน งาดำ และปลาทะเลน้ำลึก เช่น ปลาซาร์ดีน ปลาแซลมอน รวมถึงอาหารทะเลต่าง ๆ เช่น หอยนางรม กุ้งแห้ง เป็นต้น
ส่วนการดูดซึมแคลเซียมจำเป็นต้องใช้แร่ธาตุและวิตามินตัวอื่นร่วมด้วย เช่น วิตามินดี ซึ่งรับได้จากการที่ผิวหนังสัมผัสโดนแสงแดดหรือในอาหาร รวมถึงฟอสฟอรัสอีกด้วย แคลเซียมนอกจากจะมีหน้าที่สำคัญต่อกระดูกและฟัน ยังมีหน้าที่และประโยชน์อื่น ๆ ต่อร่างกายอีกมากมาย อันได้แก่
- ป้องกันและลดความเสี่ยงของการเป็นโรคกระดูกพรุน
- ช่วยป้องกันอาการกระดูกหักง่ายในผู้สูงอายุ
- ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กระดูกและฟัน
- ช่วยควบคุมและปรับความสมดุลของความดันโลหิต
- บรรเทาอาการปวดประจำเดือน
- ช่วยลดความเสี่ยงของการป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
- ช่วยบรรเทาอาการนอนไม่หลับ
- ช่วยให้จังหวะการเต้นของหัวใจเป็นไปอย่างปกติ
- ช่วยเผาผลาญธาตุเหล็กในร่างกาย
- เป็นส่วนประกอบที่ช่วยให้เลือดแข็งตัวได้เร็ว
- ช่วยในการทำงานของระบบประสาทและสมอง
- ช่วยให้ระบบน้ำย่อยทำงานได้อย่างปกติ
- ช่วยควบคุมการยืดและหดตัวของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย
- ช่วยควบคุมน้ำหนักของร่างกายให้สมดุล

แม้ว่าแคลเซียมจะมีประโยชน์มากมาย แต่การรับประทานแคลเซียมมากเกินไป ก็ก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้เช่นกัน การรับประทานแคลเซียมในแต่ละวัน ไม่ควรบริโภคเกิน 2,500 มิลลิกรัมต่อวัน หากบริโภคเกินอาจทำให้เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูงตามมาได้ โดยจะส่งผลเสียต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ ท้องอืด ท้องผูก และหากได้รับปริมาณแคลเซียมที่สูงเป็นระยะเวลานานติดต่อกัน อาจทำให้เกิดนิ่วในไต เพราะไตกรองตะกอนของแคลเซียมออกไปไม่หมด จึงสะสมอยู่ในเนื้อไตแทนที่จะไปอยู่ในปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะมากขึ้น และอาจนำไปสู่ภาวะไตวายได้ในที่สุด ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายอย่างยิ่ง สำหรับคนที่ขาดแคลเซียม และต้องการรับประทานแคลเซียมเสริมแบบเม็ด ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทาน เพื่อไม่ให้เกิดภาวะปริมาณแคลเซียมในร่างกายเกินเกณฑ์กำหนด