ปัจจุบันคนไทยป่วยด้วยโรคเบาหวานเป็นจำนวนมาก โดยสถิติผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานในประเทศไทยสำหรับคนที่อายุ 20-79 ปี พบว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานร้อยละ 8 คือในจำนวนคน 100 คน จะมีคนที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานอยู่เฉลี่ย 8 คน และยังมีอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคเบาหวานเป็นอันดับต้น ๆ ในสถิติสาเหตุการเสียชีวิตของประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งทำให้โรคนี้น่ากลัวอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน
แต่หลายคนยังคงมองข้ามพฤติกรรมที่ทำลายสุขภาพของตนเอง อย่างเช่น การรับประทานของหวาน การรับประทานอาหารแบบบุฟเฟต์บ่อย ๆ การดื่มเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูงทุกวัน ขาดการออกกำลังกาย ดื่มน้ำไม่เพียงพอ ทำให้คนป่วยด้วยโรคนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นเราควรหันมาตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพ และความรู้ในเรื่องของโรคเบาหวานกันให้มากขึ้น ดังนี้
โรคเบาหวานเกิดจากภาวะผิดปกติของร่างกาย ทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติเป็นระยะเวลานานต่อเนื่องและเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากการทำงานผิดปกติของตับอ่อน ทำให้การหลั่งของฮอร์โมนอินซูลินน้อยกว่าปกติ หรือเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ทำให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่
อาการของโรคเบาหวาน
- กินมากกว่าปกติ
- กระหายน้ำบ่อย
- ปากแห้ง
- ปัสสาวะบ่อย
- คลื่นไส้อาเจียน
- หายใจหอบเหนื่อย
- น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ
- สายตาพร่ามัว มองเห็นภาพได้ไม่ชัดเจน
- บาดแผลหายช้า
- ชาตามมือและขา

โรคเบาหวานมี 4 ชนิด
- โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากเซลล์ตับอ่อนถูกทำลาย ไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ ส่วนใหญ่มักจะพบในเด็กเล็ก ต้องได้รับการรักษาด้วยยาฉีดหรือฮอร์โมนอินซูลิน
- โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นโรคเบาหวานชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด พบได้ร้อยละ 95 จากผู้ป่วยโรคเบาหวานทั้งหมด โดยร่างกายจะมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน มักเป็นในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ คนที่มีคนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคเบาหวาน และคนที่มีน้ำหนักเกิน สามารถรับประทานยาลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ แต่หากป่วยเป็นระยะเวลานาน อาจต้องใช้ฮอร์โมอินซูลินเข้าช่วย
- โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เป็นโรคเบาหวานที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ มักเป็นในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ของการตั้งครรภ์ และจะหายไปเองหลังคลอดลูก
- โรคเบาหวานสาเหตุจำเพาะ เช่น ป่วยเป็นโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง เป็นโรคผิดปกติของต่อมไร้ท่อบางชนิด หรือรับประทานยาสเตียรอยด์เป็นส่วนประกอบ
ผู้ที่เสี่ยงจะป่วยเป็นโรคเบาหวาน
- ผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน
- ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคเบาหวาน
- ผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง
- ผู้ที่มีระดับไขมันในร่างกายสูง
- ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง
- ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดและสมอง
- ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ
- หญิงตั้งครรภ์

การรักษาโรคเบาหวาน
สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ต้องได้รับฮอร์โมนอินซูลินเข้าไปทดแทนในร่างกาย โดยการฉีดเข้าร่างกาย ร่วมกับการคุมอาหารและการออกกำลังกาย ส่วนผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในระยะเริ่มแรก อาจรักษาด้วยการเลือกรับประทานอาหาร ควบคู่ไปกับการคุมอาหารและการออกกำลังกาย หากอาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจให้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดมารับประทาน หรืออาจให้อินซูลินทดแทนเหมือนโรคเบาหวานชนิดที่ 1 สำหรับผู้ป่วยเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ควรฝากครรภ์กับแพทย์ตั้งแต่ในระยะแรก และควบคุมการรับประทานอาหารร่วมทั้งออกกำลังกายเป็นประจำด้วย
การป้องกันโรคเบาหวาน
ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ เน้นรับประทานพวกผักผลไม้ที่หวานน้อยและมีกากใยอาหารสูง ควบคุมอาหารที่มีระดับน้ำตาลและไขมันสูง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อร่างกายในแต่ละวัน สำหรับหญิงมีครรภ์ ควรไปฝากครรภ์กับแพทย์ใกล้บ้านตั้งแต่เนิ่น ๆ เพียงแค่นี้เราก็สามารถระมัดระวังและลดความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคเบาหวานได้แล้ว