ยาคุมกำเนิดมีกี่ชนิด มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง และควรรับประทานอย่างไรให้ถูกวิธี

ยาคุมกำเนิด

สำหรับหญิงที่เป็นสาวเต็มตัว อยู่ในวัยที่มีประจำเดือน แต่ยังไม่พร้อมมีบุตร อาจเนื่องด้วยยังไม่ถึงวัยที่เหมาะสม ฐานะทางการเงินยังไม่ดี การงานยังไม่เข้าที่ ร่างกายไม่แข็งแรงเพียงพอ หรือยังไม่อยากที่จะมีลูก แต่อยู่ในช่วงเวลาของการมีเพศสัมพันธ์ ยาคุมกำเนิดคือทางเลือกหนึ่งที่ตอบโจทย์ เพราะมีประโยชน์ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ แต่ก็มีผลข้างเคียงต่อร่างกายอยู่เช่นกัน ไปทำความรู้จักกับชนิดของยาคุมกำเนิด วิธีการรับประทานอย่างถูกต้อง และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นเมื่อรับประทานกันเลยค่ะ

ชนิดของยาคุมกำเนิดแบบเม็ด

  1. ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม เป็นยาคุมกำเนิดที่ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสโตเจนรวมกันอยู่ในเม็ดเดียว เป็นยาคุมกำเนิดชนิดที่มีประสิทธิภาพสูงมาก หากรับประทานตรงเวลาและสม่ำเสมอ มีข้อดีคือทำให้ปวดประจำเดือนน้อยลง และประจำเดือนมาปกติ
  2. ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว เป็นยาคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสตินอย่างเดียวเป็นชนิดที่ผลิตออกมาเพื่อลดผลข้างเคียงที่เกิดจากฮอร์โมนเอสโตรเจน
  3. ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน มีแบบให้รับประทาน 1 เม็ดหรือ 2 เม็ด โดยประสิทธิภาพการคุมกำเนิดจะต่ำกว่ายาคุมกำเนิดชนิดอื่น ๆไว้รับประทานยามฉุกเฉินเท่านั้น เช่น ถุงยางฉีกขาดหรือมีการรั่วซึม ไม่เต็มใจมีเพศสัมพันธ์ หรือถูกข่มขื่น เป็นต้น

วิธีรับประทานยาคุมกำเนิด

ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมและฮอร์โมนเดี่ยวจะเป็นแบบแผง โดยจะมีแบบ 21 เม็ด และ 28 เม็ด ซึ่งมีวิธีการรับประทานดังนี้

  1. แบบ 21 เม็ด ให้รับประทานยาคุมกำเนิดวันละเม็ด ในเวลาเดิมทุกวัน จนครบ 21 เม็ด จากนั้นให้เว้น 7 วัน และวันที่ 8 จึงค่อยรับประทานยาคุมแผงใหม่ ซึ่งในช่วง 7 วันที่เว้นจากการรับประทานยาคุมประจำเดือนจะมา โดยอาจจะมาหลังจากหยุดยาแล้วประมาณ 3-4 วัน
  2. แบบ 28 เม็ด ให้รับประทานยาคุมกำเนิดวันละเม็ด ในเวลาเดิมทุกวัน จนครบ 28 เม็ดจากนั้นสามารถเริ่มรับประทานยาแผงใหม่ได้เลยในวันถัดไป เพราะยา 7 เม็ดที่เกินมาจะเป็นยาหลอกหรือวิตามิน เพื่อไม่ให้เราลืมนับวันนั่นเอง และในช่วงที่รับประทานยาคุม 7 เม็ดสุดท้ายจะมีประจำเดือนมาเหมือนกันกับแบบ 21 เม็ด

สำหรับยาคุมฉุกเฉินหากเป็นแบบ 2 เม็ด ให้รับประทานวันละ 1 เม็ด ตรงเวลาเดิมทุกวัน โดยควรรับประทานหลังมีเพศสัมพันธ์ทันที ซึ่งไม่ควรเกิน 12 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดของยาลดลง

ผลข้างเคียงจากการรับประทานยาคุมกำเนิด

  1. คลื่นไส้ อาเจียน เพราะในยาคุมกำเนิดมีส่วนประกอบของฮอร์โมนอยู่ในปริมาณมาก จนอาจทำให้ผู้ใช้บางรายเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียนได้ ซึ่งมักจะเกิดกับผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป และผู้ที่สูบบุหรี่ หรือผู้ที่รับประทานยาคุมกำเนิด 2-3 แผงแรก โดยสามารถแก้ไขได้ด้วยการเปลี่ยนมารับประทานยาคุมกำเนิดในช่วงเวลาเย็นหรือก่อนนอน ก็จะช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียนไปได้
  2. เวียนหัว ปวดศีรษะ แม้ว่ายาคุมกำเนิดอาจไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้เกิดอาการเวียนหัวหรือปวดศีรษะ แต่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนกระตุ้นให้อาการปวดหัวแย่ลงได้ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคไมเกรนหรือโรคไซนัสอักเสบ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาคุมกำเนิดทุกครั้ง
  3. หน้าเป็นสิว เนื่องจากยาคุมกำเนิดบางชนิด มีฮอร์โมนที่กระตุ้นให้ใบหน้าเกิดสิวขึ้นได้ เช่น ยาคุมกำเนิดฮอร์โมนเดี่ยว ที่มีฮอร์โมนโปรเจสตินเป็นส่วนประกอบ
  4. น้ำหนักขึ้น เพราะฮอร์โมนในร่างกายเกิดการแปรปรวน และยังส่งผลให้ร่างกายกักเก็บน้ำไว้มากกว่าเดิม หรือที่เรียกว่าอาการบวมน้ำนั่นเอง และยังมีส่วนในการเพิ่มไขมันในเนื้อเยื่อของร่างกายอีกด้วย
  5. ซึมเศร้า ไม่ร่าเริง ยาคุมกำเนิดมีฮอร์โมนสังเคราะห์เป็นส่วนประกอบ ซึ่งส่งผลต่อสารสื่อประสาทโดยตรง ทำให้สารเคมีในสมองเสียความสมดุล จึงอาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าขึ้นได้ แต่อย่างไรก็ตามอาการซึมเศร้าสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งอาจต้องให้แพทย์ช่วยวินิจฉัยเพื่อความถูกต้องอีกครั้ง
  6. เจ็บหน้าอก เนื่องจากยาคุมกำเนิดมีฮอร์โมนสำหรับเพศหญิงอยู่ในปริมาณมาก จึงอาจทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก อาการบวม หรือหน้าอกใหญ่ขึ้นได้ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
  7. ประจำเดือนมาผิดปกติ ในผู้หญิงบางคนอาจมีเลือดออกจากช่องคลอดกระปริดกระปรอยใน 2-3 สัปดาห์แรก ส่วนในผู้หญิงบางคนอาจมีเลือดออกมากกว่าปกติ หรือประจำเดือนอาจมาช้ากว่าปกติ เพราะฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลงไปนั่นเอง
  8. ความต้องการทางเพศลดลง โดยอาจจะเกิดกับผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เพราะยาคุมกำเนิดส่งผลโดยตรงต่อการหลั่งของฮอร์โมนเทสโตโรนลดลง ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นความต้องการทางเพศนั่นเอง

ข้อแนะนำในการรับประทานยาคุมกำเนิด

  1. ควรรับประทานยาคุมกำเนิดในเวลาเดิมทุกวัน หากลืมรับประทานควรทำตามคำแนะนำด้านล่าง
  2. ควรงดสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่ระหว่างรับประทานยาคุมกำเนิดจะเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ เนื่องจากยาคุมกำเนิดมีปริมาณฮอร์โมนค่อนข้างสูง
  3. หากมีอาการอาเจียน ท้องเสีย ถ่ายเหลว จะทำให้ประสิทธิภาพของยาคุมลดลง เนื่องจากยาถูกดูดซึมน้อยลง จึงควรใช้วิธีการคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัย เป็นต้น
  4. ไม่ควรรับประทานยาคุมกำเนิดที่หมดอายุ
  5. สำหรับหญิงให้นมบุตร ควรรับประทานยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสโตเจนเพียงอย่างเดียว

ถ้าลืมรับประทานยาคุมกำเนิดต้องทำอย่างไร

  1. ถ้าลืมรับประทานยาคุมกำเนิด 1 เม็ด ให้รีบรับประทานทันทีเมื่อนึกออก แต่หากลืมเกิน 1 วัน ให้รับประทานพร้อมกัน 2 เม็ด
  2. ถ้าลืมรับประทานยาคุมกำเนิด 2 วัน ให้รับประทาน 2 เม็ดในทันทีที่นึกออก และให้รับประทานอีก 2 เม็ดในวันถัดไป ในระหว่างนี้ให้ใช้ถุงยางอนามัยในขณะมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้งจนกว่าจะเริ่มกินยาแผงใหม่
  3. ถ้าลืมรับประทานยาคุมกำเนิดเกิน 2 วันขึ้นไป ให้เลิกรับประทานยาคุมแผงนั้นไปเลย และหันมาใช้ถุงยางอนามัยแทน จากนั้นให้เริ่มรับประทานยาคุมกำเนิดใหม่ในรอบประจำเดือนถัดไป

สำหรับใครที่กำลังรับประทานยาคุมกำเนิดอยู่ ได้รับผลข้างเคียงของยา และร่างกายไม่สามารถทนได้ ควรเปลี่ยนวิธีการคุมกำเนิดเป็นแบบอื่นแทน โดยอาจจะเปลี่ยนมาใช้ถุงยางอนามัย ใส่ห่วงอนามัย ใช้หมวกครอบปากมดลูก ใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด การฉีดยาคุม การฝังยาคุม หรือทำหมัน เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงของยาคุมกำเนิดแบบชนิดเม็ด และไม่ควรรับประทานยาคุมกำเนิดเพื่อเหตุผลที่ไม่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์ เช่น อยากให้มีผิวสวย หรืออยากให้หน้าอกใหญ่ขึ้น และไม่ควรรับประทานยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินแทนยาคุมแบบธรรมดา เพราะจะมีผลข้างเคียงที่มากกว่า แต่หากจำเป็นต้องรับประทานยาคุมกำเนิดต่อไป ให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อขอปรับเปลี่ยนยาที่เหมาะสมแก่ร่างกายของเราก็ได้เช่นกัน