ใครที่มีอาการปวดหลังเรื้อรัง ปวดร้าวลงขา ขาชาจนเดินแทบไม่ได้ มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ซึ่งไม่ได้เป็นแต่เฉพาะในผู้สูงอายุเท่านั้น คนวัยหนุ่มสาวหรือวัยผู้ใหญ่ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ทั้งนั้น ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากวิถีชีวิตการทำงานที่เปลี่ยนไปของคนยุคใหม่ ใช้เวลานั่งอยู่หน้าจอนานมากขึ้น นั่งเป็นวัน ๆ จนอาจทำให้เป็นโรคนี้ได้
โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเกิดจากกระดูกสันหลังเกิดความเสื่อมและทรุดตัวไปกดทับเส้นประสาท จนทำให้เส้นประสาทเกิดการอักเสบ ส่งผลให้เกิดอาการปวดหลัง ปวดสะโพก ปวดร้าวลงขาไปจนถึงเท้าได้ ทำให้เกิดอาการชาแขนขาอ่อนแรง บางรายเป็นรุนแรงจนถึงขั้นกับเดินไม่ได้ หรือควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ ซึ่งเป็นโรคที่ใคร ๆ ก็ไม่อยากเป็น เพราะน่ากลัว และหากเป็นรุนแรงอาจถึงขั้นพิการได้เลยทีเดียว
สาเหตุการเกิดของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

1.ความเสื่อมสภาพของร่างกาย มักเกิดกับผู้สูงวัยที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักมีความเสื่อมของกระดูกอยู่แล้ว พอออกแรงหรือเบ่งอุจจาระมากจนเกินไป ก็อาจทำให้หมอนรองกระดูกแตกและปลิ้นออกมากดทับเส้นประสาทได้ โดยจะเรียกว่าหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทแบบเฉียบพลัน
2.การยกของหนักบ่อย ๆ สำหรับคนที่ใช้แรงยกของหนักอยู่บ่อย ๆ ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้สูงกว่าคนทั่วไป เพราะกระดูกจะเสื่อมเร็วกว่าคนปกติ หากยกผิดท่าหรือยกของหนักจนเกินไป ก็อาจจะทำให้กระดูกแตกหรือปลิ้นออกมากดทับเส้นประสาทได้เช่นกัน
3.การเล่นกีฬาหรือกิจกรรมโลดโผน หนุ่มสาวที่ชอบความตื่นเต้น ชอบเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมที่โลดโผน ก็เสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกทับเส้นประสาทได้เช่นกัน อย่างการกระโดดลงมาจากที่สูง และกระทบพื้นแรง ๆ ก็มีโอกาสทำให้หมอนรองกระดูกเสื่อมสภาพได้ง่ายอีกเช่นกัน
4.โรคออฟฟิศซินโดรม สำหรับคนที่ไม่ได้ยกของหนัก หรือใช้แรงอะไรมาก แต่นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ไม่ค่อยขยับตัวเคลื่อนไหว ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน เพราะการนั่งอยู่ท่าเดิมนาน ๆ ทำให้กระดูกเสื่อมเร็ว ซึ่งเป็นหนึ่งในโรคออฟฟิศซินโดรมนั่นเอง
การวินิจฉัยโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทต้องกระทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น โดยเริ่มจากการซักประวัติของคนไข้ ว่ามีอาการปวดแบบใด ปวดช่วงไหน เวลาใด หากปวดแต่ตอนเช้า พอมาสาย ๆ หรือบ่าย ๆ แล้วหายปวด ก็อาจจะเป็นเพราะนอนผิดท่า หรือที่นอนนิ่มไปไม่เหมาะต่อการนอน ทำให้ปวดหลังได้เช่นกัน โดยขั้นแรกแพทย์อาจจะจ่ายยาให้ไปรับประทานก่อน หากอาการไม่ดีขึ้น ก็จะเปลี่ยนมาตรวจแบบละเอียดแทน อาจจะสั่งให้ทำการเอกซเรย์ก็ได้ตามวินิจฉัยของแพทย์ เพื่อตรวจสอบสาเหตุที่มาของโรคอย่างละเอียด
การรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

สำหรับวิธีการรักษาโรคนี้จะมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน ตามระดับความรุนแรงของโรคและการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งวิธีที่ใช้รักษากันในปัจจุบันก็จะได้แก่วิธีต่าง ๆ เหล่านี้
1.การทำกายภาพบำบัด เป็นวิธีการรักษาที่เป็นที่นิยมสำหรับผู้ป่วยในระยะเริ่มต้น โดยแพทย์จะให้นักกายภาพบำบัดสอนท่ากายภาพต่าง ๆ โดยอาจจะมาทำที่โรงพยาบาลในครั้งแรก ๆ และให้กลับไปทำเองที่บ้าน เพื่อให้กระดูกจัดเรียงตัวกลับเข้าที่เดิม และไม่กดทับเส้นประสาทอีก ซึ่งผู้ป่วยท่ีทำกายภาพอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่ก็จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ
2.การรับประทานยา แพทย์อาจจ่ายยาให้รับประทานร่วมกับการทำกายภาพบำบัด เพื่อบรรเทาอาการของผู้ป่วย และเพื่อให้ผลการรักษาดียิ่งขึ้น โดยแพทย์อาจจะจ่ายยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาอาการปวดหลังของผู้ป่วย ยาแก้อักเสบ เพื่อบรรเทาอาการอักเสบของเส้นประสาท ยาคลายกล้ามเนื้อ เพื่อลดอาการปวดด้วยอีกเช่นกัน
3.การผ่าตัด เป็นการรักษาผู้ป่วยในระยะปานกลางไปจนถึงระยะรุนแรง สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ขับถ่ายลำบาก หรือคนที่เดินไม่ได้ โดยปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้การผ่าตัดง่ายและแม่นยำมากยิ่งขึ้น อีกทั้งแผลผ่าตัดยังมีขนาดเล็ก ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วอีกด้วย
สำหรับใครที่มีอาการปวดหลังโดยไม่ทราบสาเหตุ และดูท่าว่าจะไม่หายปวดง่าย ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและวินิจฉัยในเบื้องต้น เพราะหากเกิดเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท จะได้รับการรักษาได้อย่างทันท่วงที เพราะการรักษาที่รวดเร็วจะทำให้หายจากโรคนี้ได้ง่ายยิ่งขึ้นนั่นเอง