โรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากอะไร มีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง

โรคหลอดเลือดสมอง

อัตราการเสียชีวิตของคนไทยเนื่องมาจากโรคหลอดเลือดสมองเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ซึ่งอยู่อันดับต้น ๆ ในสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด นับว่าเป็นโรคที่อันตรายและร้ายแรงมาก และนับวันจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้จะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นเราจึงควรตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพ และมาทำความรู้จักกับโรคหลอดเลือดสมองกันอย่างละเอียดจะดีกว่า

โรคหลอดเลือดในสมองคืออะไร

คือภาวะที่สมองขาดเลือด เนื่องมาจากหลอดเลือดอุดตัน เพราะมีลิ่มเลือดบางส่วนลอยไปอุดตันในหลอดเลือดสมอง หรือหลอดเลือดตีบ เนื่องมาจากมีไขมันสะสมและเกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือดนั่นเอง ซึ่งจะทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้ ทำให้สมองขาดเลือด ร้ายแรงถึงขั้นสมองตาย หรือเสียชีวิต โดยผู้ป่วยต้องเข้าพบแพทย์ในทันที เพื่อลดความรุนแรงจากภาวะที่สมองขาดเลือด รวมถึงอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจจะตามมา เช่น ทุพพลภาพ หรือพิการ เป็นต้น

อาการของโรคหลอดเลือดสมอง

  1. ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดไม่ได้ มีอาการสับสน มึนงง ไม่เข้าใจในสิ่งที่คนอื่นพูด
  2. แขนขาอ่อนแรง ทรงตัวไม่ได้ โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นข้างเดียว เช่น ซีกซ้าย หรือซีกขวา
  3. ตาพร่ามัว เกิดอาการตาพร่ามัวอย่างเฉียบพลัน มองเห็นไม่ชัด มองเห็นได้ข้างเดียว หรืออาจเห็นภาพซ้อน
  4. ปวดหัว เวียนศีรษะ จะมีอาการรุนแรงแบบเฉียบพลัน และอาจรู้สึกคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย

ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง

  1. โรคประจำตัว โดยคนที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าคนปกติทั่วไป
  2. น้ำหนักเกิน คนที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน มักจะมีระดับไขมันและคอเลสเตอรอลในร่างกายสูง ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
  3. อายุที่เพิ่มมากขึ้น โดยพบว่าคนที่มีอายุเกิน 65 ปีขึ้นไป มักจะมีโอกาสเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าคนในวัยอื่น ๆ แต่คนที่อายุน้อยก็สามารถป่วยเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน
  4. ประวัติคนในครอบครัว พบว่าคนที่มีคนในครอบครัวหรือเครือญาติป่วยเป็นโรคนี้ โอกาสที่ตัวเองจะป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองก็มีสูงตามไปด้วย
  5. มีไขมันในเลือดสูง จะส่งผลทำให้หลอดเลือดเกิดการอุดตัน หรือตีบตันได้ง่าย ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง จนกลายเป็นโรคหลอดเลือดสมองในที่สุด
  6. เลือดข้นผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือด จึงอาจทำให้มีปริมาณเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว หรือเกล็ดเลือดสูงกว่าปกติ และไปอุดตันหลอดเลือดในสมองได้
  7. ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ คนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเป็นประจำ และคนที่สูบบุหรี่จัด จะทำให้หลอดเลือดเปราะบาง จึงเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
  8. ยาบางชนิด การรับประทานยาบางชนิดที่ทำปฏิกิริยาต่อกัน เช่น การรับประทานยาคุมกำเนิดกับยาลดความดันโลหิตสูงพร้อมกัน เป็นต้น

การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมอง

  1. การตรวจร่างกาย แพทย์จะซักประวัติอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ อาจถามว่าญาติมีใครเคยป่วยด้วยโรคนี้ไหม วัดความดันโลหิตสูง ฟังการเต้นจังหวะของหัวใจ หรืออาจใช้กล้องส่องตรวจดูสัญญาณคอเลสเตอรอลด้วยก็ได้
  2. การตรวจเลือด แพทย์จะสั่งให้เจาะเลือด เพื่อเก็บตัวอย่างของเลือดไปทดลองดูการก่อตัวของลิ่มเลือด หากค่าต่าง ๆ ในเลือดเสียสมดุล ก็อาจจะทำให้การก่อตัวของลิ่มเลือดผิดปกติด้วยได้เช่นกัน
  3. การตรวจ CT Scan อาจจะมีการฉีดสีเข้าไปในระบบไหลเวียนของเลือด หากมีภาวะเลือดออกในสมอง แพทย์ก็จะสามารถมองเห็นจากภาพเอกซเรย์ได้อย่างชัดเจน
  4. การตรวจ MRI เป็นการเอกซเรย์ผ่านคอมพิวเตอร์เป็นภาพ 3 มิติ เพื่อให้เห็นภายในสมองได้อย่างชัดเจน และทำการวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น
  5. การตรวจด้วยคลื่นความถี่สูง เป็นวิธีที่สามารถใช้ตรวจการทำงานของหัวใจและความผิดปกติในหลอดเลือดของสมองได้
  6. การฉีดสีที่หลอดเลือดสูง แพทย์จะสอดท่อเล็ก ๆ ผ่านแผลที่ขาหนีบ และฉีดสีเข้าไปจากนั้นก็เอกซเรย์เพื่อดูความผิดปกติของระบบการไหลเวียนของเลือด และเส้นหลอดเลือดในสมอง

การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง

  1. การรับประทานยา แพทย์จะให้ยาเพื่อบรรเทาและป้องกันอาการต่าง ๆ ที่จะตามมา เช่น ยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านเกล็ดเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาลดไขมัน ยาลดความดันโลหิต เป็นต้น ตามวินิจฉัยของแพทย์
  2. การผ่าตัด สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มีภาวะหลอดเลือดตีบรุนแรง หรือมีลิ่มเลือดอยู่ในหลอดเลือด เพื่อเปิดทางให้เลือดได้ไหลเวียนไปเลี้ยงสมองและส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างสะดวกมากขึ้น

การป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง

เป็นวิธีการขั้นพื้นฐานในการดูแลสุขภาพร่างกายของเราให้สมบูรณ์แข็งแรง นั่นก็คือ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารประเภทของหวาน ไขมัน น้ำอัดลม แอลกอฮอล์ รับประทานผักผลไม้ให้มากขึ้น ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่าลืมไปตรวจสุขภาพประจำปีหรือทุก 6 เดือน และสำหรับคนที่มีโรคประจำตัวก็ต้องไปตามแพทย์นัด รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง และดูแลตนเองอยู่เสมอ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองลงไปได้อีกเท่าตัว