โรคไต ไม่กินเค็มก็เป็นได้ อาหารและพฤติกรรมแบบไหน ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคไต

โรคไต

ไตคืออวัยวะส่วนหนึ่งที่สำคัญของร่างกาย มีหน้าที่ช่วยขับของเสีย ปรับสมดุลน้ำและแร่ธาตุในร่างกายให้คงที่ หากไตทำงานหนักจนเกินไป อาจเกิดภาวะไตเสื่อม หรือเป็นโรคไตได้ในที่สุด ซึ่งจะส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างแน่นอน และมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องมีการฟอกไต อาจจะต้องฟอกสัปดาห์ละหลายครั้ง หรือบางคนอาจใช้วิธีการล้างผ่านช่องท้องด้วยน้ำยา แม้ว่าค่าใช้จ่ายจะไม่สูงเท่ากันฟอกไต แต่ก็ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทำกิจวัตรระหว่างวันได้อย่างยากลำบากมากขึ้น ไปไหนมาไหนก็ไม่ค่อยสะดวก เพราะร่างกายอ่อนแอนั่นเอง

ในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยมีผู้ป่วยโดยรวมในประเทศราว 8 ล้านคน และใน 80,000 คน ป่วยเป็นไตวายระยะสุดท้าย ซึ่งยากแก่การรักษา และถ้าจะหาหรือรอไตใหม่จากผู้บริจาคมาเปลี่ยน ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นเราจึงควรรักษาดูแลร่างกายของตนเองให้ดีที่สุด

สาเหตุส่วนใหญ่ของโรคไตก็เนื่องมาจากการรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม หรือมีปริมาณโซเดียมสูง โดยทางการแพทย์แนะนำไม่ให้เราบริโภคโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือไม่เกิน 1 ช้อนชา และในผู้สูงอายุไม่ควรเกิน 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน โดยในอาหารและเครื่องปรุงรสแต่ละอย่างมีปริมาณโซเดียมดังนี้

ปริมาณโซเดียมในอาหาร

  • เกลือ 1 ช้อนชา = 2,000 มก.
  • ผงชูรส 1 ช้อนชา = 610 มก.
  • น้ำปลา 1 ช้อนชา = 500 มก.
  • ซีอิ๊ว หรือ ซอสถั่วเหลือง 1 ช้อนโต๊ะ = 1,190 มก.
  • อาหารถุง = 815 – 3,527 มก.

* ข้อมูลจาก สสส.

จะเห็นได้ว่าในเครื่องปรุงรสและอาหารแต่ละอย่างนั้นมีโซเดียมในปริมาณที่สูงมาก หากเราบริโภคติดต่อกันทุกวัน ก็จะทำให้เสี่ยงเป็นโรคไตสูงขึ้น และเนื่องจากอาหารไทยส่วนใหญ่เป็นอาหารที่มีรสจัด จึงมีโซเดียมในปริมาณสูง ดังนั้นเราจึงควรต้องหาเวลาประกอบอาหารด้วยตัวเอง เพื่อลดปริมาณโซเดียมในอาหารลง ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตได้ด้วย

อาหารที่เสี่ยงต่อโรคไต

  1. อาหารสำเร็จรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง ผลไม้กระป๋อง เป็นต้น อาหารสำเร็จรูปเหล่านี้มักจะมีโซเดียมในปริมาณสูง ถ้าจำเป็นต้องรับประทานจริง ๆ ก็ควรทานแต่เนื้อเท่านั้น ไม่ควรรับประทานน้ำหรือเครื่องปรุงรสในอาหารตาม
  2. อาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน แหนม เนื้อสัตว์ตากแห้ง ขนมคบเคี้ยวต่าง ๆ เป็นต้น อาหารที่ผ่านกระบวนการเก็บไว้ได้นาน โดยส่วนใหญ่มักจะมีเกลือเป็นส่วนผสม เพราะเกลือช่วยถนอมอาหารไม่ให้บูดเน่าง่าย และยังเพิ่มรสชาติให้แก่อาหารอีกด้วย ก่อนซื้อมารับประทานจึงควรอ่านฉลากดูปริมาณในโซเดียมก่อนเป็นอันดับแรก
  3. อาหารตามสั่ง เช่น ผัดกระเพรา ผัดพริกแกง ผัดผักรวมมิตร แกงต่าง ๆ อาหารจานด่วนข้างทางเหล่านี้ แม้ว่าจะอำนวยความสะดวกให้เรา แต่ส่วนใหญ่แม่ครัวจะใส่ผงปรุงรสในปริมาณสูง เพื่อให้รสชาติอร่อยจนติดปากลูกค้า และกลับมารับประทานอีก แต่หารู้ไม่ว่ามีปริมาณโซเดียมสูงมาก ถ้ากินบ่อย ๆ เข้าก็เสี่ยงเป็นโรคไตได้เช่นกัน
  4. อาหารไขมันสูง เช่น ไก่ทอด ไข่ทอด หมูทอด ของมัน ของหวานต่าง ๆ เป็นต้น นอกจากของเค็มแล้ว ของมันก็ยังเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตได้เช่นกัน เพราะเมื่อรับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะทำให้ความดันโลหิตสูง ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตได้
  5. อาหารหมักดอง เช่น ผักกาดดอง ไข่เค็ม ผลไม้ดอง เป็นต้น ในพวกอาหารหมักดองแม้ว่าจะมีรสเปรี้ยวนำ แต่ก็มักมีปริมาณโซเดียมที่สูงเช่นกัน
  6. เครื่องปรุงรส เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว ผงชูรส ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ น้ำจิ้มสุกี้ น้ำจิ้มต่าง ๆ เป็นต้น แน่นอนว่าเครื่องปรุงรสต่าง ๆ มักมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบอยู่ในปริมาณสูง เพื่อเพิ่มรสชาติให้กับอาหารนั่นเอง
  7. สารปรุงแต่งอาหาร เช่น สารกันบูด ผงฟู สารสังเคราะห์ต่าง ๆ รวมทั้งเชื้อราที่เกิดขึ้นในอาหาร แม้ว่าจะไม่ได้มีรสเค็ม แต่ก็ส่งผลเสียต่อไตได้เช่นกัน จึงเป็นอีกหนึ่งอย่างที่ควรหลีกเลี่ยง ไม่ควรรับประทานบ่อยจนเกินไป

นอกจากอาหารที่เลือกรับประทานแล้ว พฤติกรรมเกี่ยวกับสุขภาพที่ไม่ดี ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตได้อีกเช่นกัน จะมีพฤติกรรมอะไรบ้างนั้น ไปอ่านกันเลย

พฤติกรรมที่เสี่ยงต่อโรคไต

  1. รับประทานอาหารรสจัด นอกจากอาหารรสเค็มจัดแล้ว ยังรวมถึงอาหารรสหวานจัดอีกด้วย เพราะการที่มีปริมาณน้ำตาลในร่างกายสูง จะทำให้ไตทำงานหนักมากขึ้น เสี่ยงต่อการเป็นโรคไตได้นั่นเอง
  2. ขาดการออกกำลังกาย นอกจากทำให้ร่างกายไม่แข็งแรง เสี่ยงต่อน้ำหนักเกินมาตรฐานแล้ว ยังเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันอุดตันในหลอดเลือด โรคเบาหวาน เป็นต้น ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้ป่วยเป็นโรคไตได้เช่นกัน
  3. ดื่มน้ำไม่เพียงพอ น้ำทำหน้าที่ลำเลียงของเสียมาที่ไต และขับออกมาเป็นปัสสาวะ หากเราดื่มน้ำน้อยไม่เพียงพอต่อร่างกาย ก็จะทำให้ไตทำงานหนักขึ้น และขับของเสียได้ไม่หมด ทำให้ของเสียสะสมและอาจเกิดเป็นนิ่วในไตหรือในกระเพาะปัสสาวะได้อีกด้วย
  4. เครียด ทำงานหนัก เมื่อร่างกายทำงานหนัก ขาดการพักผ่อน อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายก็เกิดการเสื่อม เพราะไม่ได้รับการดูแลและซ่อมแซมอย่างที่ควรจะเป็น รวมถึงความเครียดที่ส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนของเลือดในร่างกาย ซึ่งส่งผลให้ไตทำงานหนัก และอาจเกิดปัญหาไตเสื่อมได้เร็วยิ่งขึ้น

สำหรับคนที่รับประทานอาหารที่เสี่ยงเป็นโรคไต และมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เราจะรู้ได้อย่างไรว่าส่งผลกระทบต่อไตแล้ว ซึ่งมีวิธีสังเกตอาการได้ง่าย ๆ ดังนี้

อาการที่เสี่ยงเป็นโรคไต

  • ตาบวม ส่วนใหญ่มักเป็นในตอนเช้า
  • เท้าและขาทั้งสองข้างบวม
  • เหนื่อยง่าย ไม่มีแรง อ่อนเพลียบ่อย
  • ปวดหลัง ปวดบั้นเอว ปวดท้องน้อย
  • ปัสสาวะไม่ปกติ เช่น ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะมีเลือดปน ปัสสาวะเป็นฟองสีขาว ๆ เป็นต้น

หากพบอาการเหล่านี้กับตนเองหรือคนใกล้ชิด ควรรีบไปตรวจสุขภาพและปรึกษาแพทย์ใกล้บ้านโดยด่วน เพราะคุณและคนที่คุณรัก อาจจะกำลังป่วยเป็นโรคไตอยู่ก็ได้ หากรู้ก่อน รักษาไว ก็มีโอกาสที่จะหาย หรือโรคไม่ลุกลามไปมากกว่าเดิมได้