ความดันต่ำเกิดจากอะไร มีวิธีแก้ไขหรือรักษา และป้องกันอย่างไรบ้าง

ความดันต่ำเกิดจากอะไร

ภาวะความดันโลหิตต่ำสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ และทุกวัย ซึ่งเป็นภาวะที่ควาดันต่ำกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท โดยอาจจะต่ำทั้งสองตัว หรือตัวใดตัวหนึ่งก็จัดเป็นภาวะความดันต่ำด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งในทางการแพทย์ไม่ได้จัดเป็นโรค แต่จัดเป็นภาวะ ซึ่งหมายความสามารถแก้ไขและรักษาให้หายได้นั่นเอง

สาเหตุของภาวะความดันโลหิตต่ำ

สาเหตุของการเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำมีด้วยกันมากมายหลายสาเหตุ เช่น สภาพร่างกาย อัตราการหายใจ การเปลี่ยนท่าทางและอิริยาบถ การรับประทานอาหาร การดื่มน้ำและเครื่องดื่มต่าง ๆ  ความเครียด ช่วงเวลาระหว่างวัน พฤติกรรมในการใช้ชีวิต ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำได้ทั้งสิ้น นอกจากนั้นยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีก อันได้แก่

  1. กรรมพันธุ์ ความดันต่ำสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
  2. อายุที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป โดยมักเกิดหลังจากรับประทานอาหารเสร็จ หรือตอนที่ลุกขึ้นยืนเร็ว ๆ
  3. การตั้งครรภ์ เนื่องจากเลือดจะถูกแบ่งไปเลี้ยงทั้งตัวทารกและตัวคุณแม่ ทำให้เลือดไม่เพียงพอหล่อเลี้ยงร่างกาย และส่งผลให้เกิดภาวะความดันต่ำตามมา
  4. มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคโลหิตจาง โรคพาร์กินสัน โรคเบาหวาน โรคซึมเศร้า โรคต่อมหมวกไตบกพร่อง โรคที่เกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ เป็นต้น
  5. การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาขับปัสสาวะ ยาต้านเศร้า ยาเบต้า-บล็อกเกอร์ ยาแอลฟา-บล็อกเกอร์ ยาไนโตรกลีเซอริน เป็นต้น
  6. การติดเชื้อในกระแสเลือด การติดเชื้อรุนแรง หรือมีอาการแพ้รุนแรง
  7. ร่างกายเสียเลือดจำนวนมาก อาจเนื่องมาจากการประสบอุบัติเหตุ หรือการสูญเสียเลือดแบบเรื้อรัง เช่น จากบาดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ เป็นต้น
  8. เกิดอาการภาวะร่างกายขาดน้ำ ทำให้ร่างกายอ่อนล้าและอาจเกิดอาการช็อกได้
  9. เกิดจากการขาดสารอาหาร โดยเฉพาะวิตามินบี โฟเลต ธาตุเหล็ก โปรตีน เป็นต้น ทำให้ผนังหลอดเลือดแดงคลายตัวและไม่แข็งแรง

อาการภาวะความดันโลหิตต่ำ

  1. เวียนหัว หน้ามืด เป็นลม
  2. มีอาการสับสน มึนงง
  3. ตาพร่ามัว มองเห็นภาพไม่ชัด
  4. ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก
  5. หายใจสั้น ตื้น และถี่
  6. คลื่นไส้ กระหายน้ำ
  7. อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่ค่อยมีแรง
  8. มือเท้าเย็น หนาวสั่น ตัวซีด

การรักษาภาวะความดันโลหิตต่ำ

สำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำในระดับที่ไม่รุนแรง แพทย์จะคอยติดตามและประเมินอาการ และสำหรับผู้ที่ความดันโลหิตต่ำที่เกิดจากการรับประทานยา แพทย์จะพิจารณาให้หยุด ลด หรือปรับเปลี่ยนยา นอกจากนั้นยังมีวิธีการรักษาดังต่อไปนี้

  1. การให้น้ำเกลือ เป็นการให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำ เพื่อกระตุ้นให้ความดันโลหิตสูงขึ้น สำหรับผู้ที่มีภาวะขาดสารอาหารและเกลือแร่ รวมทั้งผู้ที่เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด และสูญเสียเลือดเป็นจำนวนมาก
  2. รักษาด้วยยา โดยแพทย์จะให้ยาสำหรับรักษาภาวะความดันโลหิตต่ำโดยเฉพาะ เช่น ยาฟลูโดรคอร์ติโซน ใช้สำหรับในการเพิ่มปริมาณเลือด ยามิโดดรีน ใช้สำหรับผู้ที่มีความดันต่ำขณะลุกนั่งหรือเปลี่ยนอิริยาบถ หรือสเตียรอยด์ ช่วยป้องกันการสูญเสียเกลือแร่ในร่างกาย เป็นต้น
  3. รักษาที่ต้นเหตุ สำหรับผู้ป่วยที่เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำมาจากโรคประจำตัวต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคโลหิตจาง หรือฮอร์โมนผิดปกติ เป็นต้น แพทย์จะรักษาโรคประจำตัวของผู้ป่วยและภาวะความดันโลหิตต่ำไปควบคู่กัน
  4. สวมถุงน่องชนิดพิเศษ เป็นถุงน่องที่ใช้ในทางการแพทย์ หรือที่เรียกว่า Compression stockings ที่ช่วยบีบรัดบริเวณช่วงเท้า ขา และท้อง ช่วยในการกระตุ้นระบบไหลเวียนของเลือด สามารถช่วยเพิ่มความดันโลหิตได้ และยังช่วยรักษาอาการเส้นเลือดขอดอีกด้วย ซึ่งอาจจะไม่เหมาะกับผู้ป่วยทุกราย ดังนั้นจึงต้องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยในการรักษา รวมทั้งขอคำแนะนำจากแพทย์ก่อนเสมอ

การดูแลและป้องกันตัวเอง ไม่ให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ

  1. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ควรเรียนหรือทำงานหนักจนเกินไป จัดเวลานอนให้เหมาะสม และนอนให้ได้วันละอย่างน้อย 8 ชั่วโมง และไม่ควรนอนหมอนต่ำจนเกินไป
  2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายจะไปทำให้ผนังหลอดเลือดแข็งแรงขึ้น ระบบประสาทและสมองทำงานได้อย่างสมดุล ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ความดันโลหิตสูงมากขึ้น
  3. ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม โดยควรดื่มน้ำอย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน หรือประมาณ 2-3 ลิตรต่อวัน เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ ทั้งยังช่วยเพิ่มปริมาณในเลือดให้สูงขึ้นอีกด้วย
  4. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ การได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอและไม่ครบถ้วน เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ให้ความดันโลหิตต่ำลง โดยให้เน้นรับประทานคาร์โบไฮเดรต โปรตีน โซเดียม วิตามินบี ธาตุเหล็ก และโฟเลต
  5. ลดปริมาณอาหารในแต่ละมื้อ โดยควรจัดปริมาณอาหารในแต่ละมื้อให้น้อยลง และเพิ่มจำนวนมื้อให้มากขึ้น เพื่อป้องกันภาวะความดันโลหิตต่ำหลังมื้ออาหาร
  6. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน เพราะร่างกายจะเกิดการขับปัสสาวะมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความดันต่ำลงนั่นเอง
  7. หลีกเลี่ยงการยืนเป็นระยะเวลานาน เพราะเลือดจะไปเลี้ยงสมองน้อยลง ทำให้เกิดอาการเวียนหัว และความดันโลหิตต่ำ
  8. ไม่ควรรีบเปลี่ยนท่าทางหรืออิริยาบถ โดยตอนที่เรานอนอยู่และจะลุกขึ้น ให้เปลี่ยนเป็นท่านั่งก่อนสักพักนึง แล้วค่อยยืน หรือเมื่อนั่งอยู่แล้วจะลุกขึ้นยืน ให้ค่อย ๆ ยืนอย่างช้า ๆ ไม่ลุกอย่างเร่งรีบจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้หน้ามืดและเป็นลมได้
  9. หาวิธีจัดการกับความเครียด โดยหาอะไรที่ชอบและผ่อนคลายทำเช่น รดน้ำต้นไม้ อ่านหนังสือ ฟังเพลงช้า ๆ เล่นกับสัตว์เลี้ยงเบา ๆ เดินเล่น ดูหนังที่ไม่เครียดหรือไม่ตื่นเต้นมากจนเกินไป เป็นต้น
  10. ตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ ควรหาที่วัดความดันโลหิตมาใช้ เพื่อจดบันทึกความดันโลหิตในแต่ละวัน ซึ่งจะใช้เป็นข้อมูลในการประกอบการรักษาได้เป็นอย่างดีนั่นเอง

แม้ว่าภาวะความดันโลหิตต่ำจะไม่เป็นอันตรายเท่าภาวะความดันโลหิตสูง แต่ก็เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตได้ เนื่องมาจากการหมดสติในขณะที่อยู่บนเส้นทางจราจรบนท้องถนน หรืออาจจะเกิดอุบัติเหตุในสถานที่อื่น ๆ ได้เช่นกัน ดังนั้นเราจึงควรดูแลใส่ใจรักษาสุขภาพร่างกายให้ดี เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำทั้งในปัจจุบันและอนาคต