ในยุคปัจจุบันโลกของเราเกิดโรคระบาดของเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งซึ่งแพร่กระจายไปทั่วโลก นั่นก็คือเชื้อไวรัสโควิด-19 นั่นเอง ซึ่งเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ที่ยังหาวิธีรักษาให้หายขาดไม่ได้ และยังคงอยู่กับโลกมนุษย์เราเป็นปีที่ 3 แล้ว แต่ก็ได้มีการผลิตวัคซีนที่มีประสิทธิภาพขึ้นมาต่อต้านเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้ รวมทั้งยาต้านไวรัสอย่างฟาวิพิราเวียร์ ที่ช่วยต่อสู้กับโรคระบาดนี้ไปได้ แต่สำหรับคนที่ป่วยเป็นโรคโควิด-19 และหายแล้ว กลับยังมีอาการต่าง ๆ หลงเหลืออยู่ ซึ่งเป็นอาการหรือภาวะชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ลองโควิด” นั่นเอง
ภาวะลองโควิด Long Covid-19 หรือ Post Covid-19 Syndrome คือภาวะที่ผู้ป่วยโควิดไม่มีเชื้ออยู่ในร่างกายแล้ว แต่ยังมีอาการบางอย่างหลงเหลืออยู่ ซึ่งแต่ละคนจะมีอาการที่ไม่เหมือนกัน อาการไม่ตายตัว ซึ่งทำให้ผู้ป่วยยังไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
โดยสาเหตุของการเกิดภาวะนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ก็สันนิษฐานได้ว่าเกิดมาจากการที่เชื้อไวรัสโควิด-19 ไปสร้างแอนติบอดี้ และเกิดการจับตัวกับเซลล์โปรตีนในร่างกาย ซึ่งจะไปทำลายเนื้อเยื่อบางส่วนในร่างกายของผู้ป่วย ทำให้มีอาการหลงเหลือเกิดขึ้น หรือบางรายเมื่อเชื้อโควิดหายแล้ว ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีมาก จนอาจหันมาทำลายอวัยวะภายในร่างกายของตนเอง ก็ทำให้เกิดอาการได้เช่นกัน
ซึ่งผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายแล้วมีโอกาสที่จะเกิดภาวะลองโควิดได้ถึง 30-50% โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อย่างปอดอักเสบจากการติดเชื้อ เป็นต้น โดยอาการอาจจะอยู่ได้นานถึง 12 สัปดาห์ สำหรับคนที่มีอายุ 35-69 ปีจะอยู่ในกลุ่มเสี่ยง และมีโอกาสที่จะเกิดภาวะนี้ได้ 20% เลยทีเดียว ซึ่งผู้ป่วยที่มีภาวะลองโควิดอาจจะมีอาการทางร่างกายดังต่อไปนี้

อาการของภาวะลองโควิด
1. เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย
2. หายใจไม่อิ่ม ใจสั่น แน่นหน้าอก
3. กล้ามเนื้ออ่อนแรง
4. ปวดเมื่อยตามตัวและตามข้อต่อ
5. แสบตา น้ำตาไหล คันตา
6. มีผื่นขึ้นตามตัว
7. ไอเรื้อรัง
8. การรับรสและการได้กลิ่นผิดปกติ
9. ปวดศีรษะ เวียนหัว รู้สึกเหมือนมีไข้
10. ท้องเสีย ท้องอืด อาหารไม่ย่อย
11. เครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล นอนไม่หลับ
12. ความจำไม่ดี ไม่มีสมาธิ
13. ความดันโลหิตสูง
ซึ่งผู้ที่อยู่ในภาวะลองโควิดอาจจะมีอาการแค่เพียงอย่างเดียว หรือหลายอย่างก็ได้ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายแต่ละบุคคล และกลุ่มเสี่ยงที่มักจะเกิดภาวะนี้ขึ้นกับร่างกาย มักจะได้แก่

กลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นลองโควิด
1. ผู้ป่วยติดโควิดที่มีอาการรุนแรง มีภาวะปอดอักเสบ
2. ผู้สูงอายุ โดยจะมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
3. ผู้ที่มีโรคประจำตัว
4. ผู้ที่มีภาวะอ้วน น้ำหนักตัวเกิน
5. ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ
6. ผู้หญิงมีโอกาสเป็นได้มากกว่าผู้ชาย
สำหรับผู้ที่อยู่ในอาการหรือภาวะลองโควิด หากอาการไม่รุนแรงสามารถรักษาดูแลตัวเองอยู่ที่บ้านได้ ด้วยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำอุ่นตามปริมาณที่ร่างกายต้องการ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ โดยให้เน้นอาหารประเภทโปรตีน เพื่อร่างกายจะได้เอาไปใช้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และพวกผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น ส้ม ฝรั่ง มะละกอ มะม่วง สับปะรด ผลไม้ตระกูลเบอรี่ กะหล่ำดอก คะน้า ชะอม ปวยเล้ง บรอกโคลี เป็นต้น และอย่าลืมออกกำลังกายเบา ๆ เป็นประจำสม่ำเสมอด้วย แต่หากใครที่มีอาการรุนแรง หรือมีผลกระทบต่อร่างกายและส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ให้เข้าพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาต่อไป จะเป็นการดีที่สุด