สารแห่งความสุข ในร่างกายของคนเรา มีอะไรบ้าง กระตุ้นอย่างไรให้หลั่งออกมา

สารแห่งความสุขในร่างกาย

สมองเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายที่สำคัญ ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานต่าง ๆ ในระบบร่างกาย และยังทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนและสารสื่อประสาทต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งฮอร์โมนหรือสารส่วนหนึ่งที่ถูกผลิตออกมา ก็คือสารที่ช่วยทำให้เรารู้สึกมีความสุขนั่นเอง แล้วสารแห่งความสุขเหล่านี้มีอะไรบ้าง แต่ละอย่างทำหน้าที่อะไร และทำอย่างไรสารแห่งความสุขเหล่านี้จะถูกผลิตออกมา เราไปอ่านกันดีกว่า

เอ็นดอร์ฟิน (Endorphin)

เป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้เราสามารถทนต่อความเจ็บปวดได้ เช่น เมื่อวานเราออกกำลังกายจนปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ แต่วันรุ่งขึ้นเราก็ยังสามารถออกกำลังกายต่อได้ ซึ่งธรรมชาติออกแบบมาเพื่อให้มนุษย์สมัยก่อนสามารถออกล่าสัตว์อย่างต่อเนื่องได้ เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ไว้

โดยร่างกายจะปล่อยเอ็นดอร์ฟินออกมาเพื่อระงับความเครียดและความเจ็บปวด โดยกระจายไปทั่วระบบประสาท เมื่อสารนี้หลั่งออกมาแล้วจะทำให้รู้สึกมีความสุข ผ่อนคลาย เคลิบเคลิ้ม บรรเทาความเจ็บปวดและอาการซึมเศร้า มีความอยากอาหารมากขึ้น ทั้งยังช่วยหลั่งฮอร์โมนเพศ ทำให้คลอดลูกได้ง่ายขึ้น ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง นอกจากนั้นยังช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ตัวเองอีกด้วย

กิจกรรมที่ทำให้เอ็นดอร์ฟินหลั่ง

  • การออกกำลังกาย
  • การทำสมาธิ
  • การหัวเราะ
  • ดูหนัง ฟังเพลง เล่นดนตรี วาดรูป
  • การนวด การอบซาวน่า ดมกลิ่มหอม
  • การมีเพศสัมพันธ์


โดพามีน (Dopamine)

โดพามีนเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทและสมอง ช่วยในเรื่องของความจำ การเรียนรู้ การเคลื่อนไหว เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความรัก ความพึงพอใจ ความยินดี ถ้าร่างกายเราผลิตฮอร์โมนนี้ได้น้อย อาจจะทำให้รู้สึกซึมเศร้า หดหู่ ขาดแรงจูงใจ จนถึงขั้นอาจเป็นโรคจิตเวชอย่างโรคซึมเศร้าได้ และในผู้สูงอายุอาจทำให้เป็นโรคพาร์กินสันได้เช่นกัน เพราะโดพามีนทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวและกล้ามเนื้อของร่างกายด้วยนั่นเอง

กิจกรรมที่ทำให้โดปามีนหลั่ง

  • ออกกำลังกาย
  • ตั้งเป้าหมาย และลงมือทำให้สำเร็จ
  • รับประทานอาหารประเภทโปรตีน

เซโรโทนิน (Serotonin)

เป็นสารเคมีในร่างกายที่ส่งผลต่อระบบประสาทและสมอง ช่วยควบคุมความอยากอาหาร ความคิด ความทรงจำ อารมณ์ ความสุข ความเศร้า และความต้องการทางเพศ หากร่างกายมีระดับเซโรโทนินที่สมดุล ก็จะส่งผลให้มีสมาธิ ความจำดี อารมณ์ดี มีความสุข ความสงบนิ่ง หากเซโรโทนินอยู่ในระดับต่ำก็จะส่งผลให้มีภาวะซึมเศร้า เครียด กังวล ไม่มีสมาธิ หงุดหงิด โมโหง่าย อ่อนไหวง่าย ความจำแย่ลง และอาจนอนไม่ค่อยหลับ

กิจกรรมที่ทำให้เซโรโทนินหลั่ง

  • ออกกำลังกายแบบแอโรบิก
  • โดนแดดในตอนเช้า
  • ทำสมาธิ
  • กินกล้วย ถั่วเปลือกแข็ง โปรตีน

ออกซิโตซิน (Oxytocin)

ฮอร์โมนตัวนี้ถูกผลิตขึ้นจากต่อมใต้สมอง มีหน้าที่สำคัญคือช่วยในการคลอดและให้นมบุตร ซึ่งจะทำให้แม่รู้สึกมีความผูกพันกับลูก ซึ่งคนปกติก็จะมีอยู่เช่นกัน โดยจะช่วยในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน เข้าสังคม ทำให้มีความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจผู้อื่นมากขึ้น เมตตาสงสารคนอื่น มีความอ่อนโยน แม้แต่ในคู่รักก็มีฮอร์โมนชนิดนี้หลั่งออกมาเช่นกัน ซึ่งจะทำให้เกิดความรู้สึกผูกผัน อบอุ่น และปลอดภัย แต่ฮอร์โมนนี้ก็จะลดลงได้เช่นกัน เมื่อเรารู้สึกกังวล เครียด เหนื่อย หรืออ่อนเพลีย

กิจกรรมที่ทำให้ออกซิโตซินหลั่ง

  • การกอด การจับมือ การสัมผัส
  • การมีเพศสัมพันธ์
  • ร้องไห้ตอนดูหนัง เพราะสงสารตัวละคร

สำหรับสารแห่งความสุข 4 อย่างนี้ ล้วนแล้วแต่มีอยู่ในร่างกายของทุกคน แต่จะมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเองเบื้องต้นด้วย หากเรารับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ออกไปรับแดดยามเช้า ไม่เครียดจนเกินไป มีกิจกรรมทำยามว่าง มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น เพียงเท่านี้ก็จะทำให้เรารู้สึกมีความสุขอบอุ่นหัวใจได้แล้ว เนื่องจากฮอร์โมนหลั่งและทำงานได้อย่างเป็นปกตินั่นเอง