ยาไมเกรน มีกี่ชนิด ต้องกินอย่างไร มีผลข้างเคียงหรือไม่

ยาไมเกรน

โรคไมเกรนคืออาการปวดศีรษะที่แตกต่างจากการปวดศีรษะแบบธรรมดา ปวดมากกว่าปกติ ปวดเหมือนมีอะไรมาบีบขมับ อาจมีอาการปวดตาหรือปวดหูร่วมด้วย บางทีปวดเหมือนมีใครเอาเข็มมาจิ้ม คนที่มีอาการเหล่านี้ต้องเข้าพบแพทย์เพื่อซักประวัติและตรวจวินิจฉัย หากพบว่าเป็นโรคไมเกรน แพทย์จะได้แนะนำวิธีการรักษาให้อย่างเหมาะสมกับแต่ละบุคคล โดยหนึ่งในวิธีรักษาเหล่านั้นก็คือการใช้ยานั่นเอง

โดยยาไมเกรนจะแบ่งออก 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ยาแก้ปวดไมเกรน และยาป้องกันไมเกรน ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักต้องกินควบคู่กันไป โดยยาแก้ปวดไมเกรน จะกินเฉพาะตอนปวด หรือก่อนปวดเท่านั้น ไม่ควรกินบ่อย ๆ ส่วนยาป้องกันไมเกรน ต้องกินติดต่อกันทุกวันอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดระดับและความถี่ของการปวดไมเกรนนั่นเอง

ยาแก้ปวดไมเกรน

  1. ยาแก้ปวดทั่วไป ซึ่งได้แก่ พาราเซตามอล แอสไพริน ไฮบลูโพรเฟน เป็นต้น เป็นยาที่สามารถใช้ได้กับอาการปวดธรรมดาและอาการปวดไมเกรน ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป
  2. ยาแก้ปวดเฉพาะไมเกรน เช่น ยากลุ่มทริปแทน อย่าง ซูมาทริปแทน โซลมิทริปแทน นาราทริปแทน เป็นต้น หรือยากลุ่มเออร์กอต อัลคาลอยด์ อย่าง ไดไฮโดรเออร์โกตามีน เออร์โกตามีน เป็นต้น ซึ่งเป็นยาแก้ปวดที่ไว้ใช้สำหรับอาการปวดหัวไมเกรนโดยเฉพาะ ส่วนใหญ่แพทย์หรือเภสัชกรจะเป็นผู้จ่ายยาให้ผู้ป่วยด้วยตนเอง

ยาป้องกันไมเกรน

  1. ยาต้านเศร้า ซึ่งสามารถใช้รักษาและป้องกันโรคไมเกรนและโรคซึมเศร้าได้ โดยบางรายอาจเป็นทั้ง 2 โรคร่วมกัน หรือใครที่เป็นเฉพาะโรคไมเกรนก็สามารถรับประทานได้เช่นกัน แต่จะต้องจ่ายยาโดยแพทย์เท่านั้น ซึ่งผลข้างเคียงอาจจะทำให้ง่วงซึม สามารถสอบถามแพทย์ก่อนได้ว่า รับประทานตอนก่อนนอนได้หรือไม่ เพื่อจะได้ไม่รบกวนกับการเรียนและการทำงานในช่วงกลางวันนั่นเอง
  2. ยาในกลุ่มกันชัก เช่น โซเดียมวาลโปรเอต โทพิราเมท กาบ้าเพนติน เป็นต้น สามารถใช้รักษาโรคที่มีอาการชักเกร็งและโรคไมเกรนได้ ผลข้างเคียงคือ อาจทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลง หรือผมร่วงได้ โดยปริมาณการใช้ยาในการป้องกันโรคไมเกรนจะน้อยกว่าการใช้สำหรับกันชัก
  3. ยาลดความดันโลหิต เช่น ยาในกลุ่มเบต้า ได้แก่ โพรพราโนลอล อะทีโนลอล เมโทโพรลอล ทิโมลอล เป็นต้น มีประสิทธิภาพในการป้องกันไมเกรนได้ถึง 55-84% แต่ผลข้างเคียงอาจทำให้อ่อนเพลีย ไม่ค่อยมีแรง เพราะความดันโลหิตลดลง ดังนั้นคนที่มีความดันโลหิตต่ำ จึงควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อที่แพทย์จะได้พิจารณาจ่ายยาตัวอื่นให้รับประทานแทน
  4. ยาฉีดคลายกล้ามเนื้อ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า โบท็อกซ์ นั่นเอง ซึ่งชื่อเต็มคือ โบทูลินัม ท็อกซิน เป็นยาสำหรับคลายกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า ขมับ และท้ายทอย ซึ่งต้องฉีดทุก ๆ 12 สัปดาห์ และฉีดครั้งละหลายเข็มด้วยกัน โดยส่วนใหญ่มักจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการรับประทานยาเม็ดธรรมดา แต่ข้อดีก็คือช่วยให้หน้าเต่งตึงกระชับไปในตัว เนื่องจากมีคุณสมบัติในการยกกระชับหน้า เหมือนการเสริมความงามในคลินิกทั่วไปนั่นเอง

ผลข้างเคียงของยา

  1. คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ
  2. ปวดท้อง ท้องเสีย
  3. ความดันโลหิตสูง
  4. กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นตะคริว
  5. ชาตามนิ้วมือนิ้วเท้า มือเท้าเย็น
  6. อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
  7. มีผื่นขึ้น คัน บวม แดง ตามใบหน้า ริมฝีปาก และลิ้น
  8. เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ในสั่น หัวใจเต้นผิดปกติ

ผู้ที่ไม่ควรใช้ยาไมเกรน

  1. หญิงมีครรภ์ และหญิงให้นมบุตร
  2. เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
  3. ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ที่ยังควบคุมอาการไม่ได้
  4. ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดและหัวใจ
  5. ผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด
  6. ผู้ป่วยโรคตับและไต หรือผู้ที่มีภาวะบกพร่องของตับและไต
  7. ผู้ที่มีประวัติแพ้ยา

แม้ว่ายาไมเกรนจะมีข้อห้ามและผลข้างเคียงมาก แต่การได้รับประทานยาในปริมาณที่เหมาะสม ตามค่ำสั่งของแพทย์ โดยการได้รับการวินิจฉัยและจ่ายยาจากแพทย์อย่างถูกต้อง ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยบรรเทาอาการปวดไมเกรนลงได้ ซึ่งจะลดการรบกวนของโรคไมเกรนที่มีผลต่อการเรียน การทำงาน หรือการใช้ชีวิตประจำวันลงไปได้อย่างมาก หากเทียบกับผู้ที่ไม่รับประทานยาเลย ซึ่งผู้ป่วยอาจจะมีอาการมากขึ้นได้หากไม่รับประทานยาแก้ปวดเมื่อมีอาการ และไม่รับประทานยาป้องกัน ก็จะทำให้เป็นไมเกรนเรื้อรังหรือมีอาการหนักกว่าเดิมได้เช่นกัน ดังนั้นยาไมเกรนจึงยังคงมีส่วนสำคัญในการรักษาโรคนี้อยู่อย่างมีประสิทธิภาพ