แม้ว่าน้ำจะเป็นสิ่งจำเป็นและมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่หากดื่มน้ำผิดวิธีก็อาจทำให้เป็นอันตรายต่อตนเองได้เช่นกัน คือการดื่มน้ำมากเกินกว่า 3 ลิตรต่อวันนั่นเอง อะไรที่มากเกินไปใช่ว่าจะดี การดื่มน้ำก็เช่นกัน เพราะหากดื่มน้ำมากเกินไป นอกจากจะส่งผลเสียต่อร่างกายแล้ว ยังอาจนำไปสู่การเกิดภาวะน้ำเป็นพิษ ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน ดังนั้นเรามาดูกันดีกว่าว่า ผลเสียของการดื่มน้ำมากเกินไปมีอะไรบ้าง และอาการภาวะน้ำเป็นพิษเป็นอย่างไร สามารถป้องกันได้หรือไม่
ผลเสียของการดื่มน้ำมากเกินไป
- โซเดียมในร่างกายต่ำกว่าปกติ หากดื่มน้ำมากเกินไป อาจทำให้โซเดียมในร่างกายต่ำกว่าปกติได้ อย่างไรก็ตามภาวะนี้ มักเกิดขึ้นกับนักกีฬาที่ออกกำลังกายอย่างหนัก ซึ่งร่างกายกำลังมีภาวะโซเดียมในร่างกายต่ำอยู่แล้ว หากดื่มน้ำในปริมาณมากอย่างรวดเร็วตามไปอีก อาจทำให้ถึงขึ้นเสียชีวิตได้เลยก็มี โดยอาการจะเริ่มจากในระดับเล็กน้อยไปจนถึงขั้นรุนแรง ซึ่งก็คือเริ่มจากอาการสับสน กล้ามเนื้อเป็นตะคริว ง่วงนอน และไม่รู้สึกตัว
- โพแทสเซียมในร่างกายต่ำกว่าปกติ การดื่มน้ำมากเกินไป นอกจากจะทำให้ระดับโซเดียมในร่างกายต่ำกว่าปกติแล้ว ยังทำให้ระดับโพแทสเซียมในร่างกายต่ำกว่าปกติอีกด้วย ยิ่งเฉพาะในคนที่รับประทานยาลดการปัสสาวะ จะยิ่งเห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยจะมีอาการดังนี้คือ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ความดันโลหิตต่ำ อาจจะถึงขึ้นเป็นอัมพาตเลยก็มี ซึ่งเป็นภาวะที่อันตรายต่อร่างกายอีกเช่นกัน
- กล้ามเนื้อเป็นตะคริว การดื่มน้ำมากเกินไป จะทำให้ของเหลวในร่างกายเสียสมดุล เนื่องจากอิเล็กโทรไลต์ในร่างกายลดน้อยลง ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ โดยจะทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็งและเป็นตะคริวนั่นเอง หากคุณต้องออกกำลังกายหรือใช้แรงมาก ให้ดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับคนออกกำลังกาย ซึ่งมีขายอยู่ตามท้องตลาดทั่วไป เพื่อเพิ่มระดับอิเล็กโทรไลต์ในร่างกายให้สมดุล ป้องกันการเป็นตะคริวนั่นเอง

- ไตทำงานหนักเกินไป ไตมีหน้าที่กรองสารพิษและของเสียส่วนเกินออกจากร่างกาย ดังนั้นเมื่อคุณดื่มน้ำในปริมาณมาก หรือหลายลิตรต่อ 1 ชั่วโมง ก็จะทำให้ไตทำงานหนักเกินจำเป็น เพื่อขับน้ำส่วนเกินออกจากเลือด เป็นการรักษาสมดุลของเหลวในร่างกายนั่นเอง ซึ่งจะส่งผลเสียโดยตรงต่อร่างกาย อาจทำให้เป็นโรคไตเรื้อรัง และยิ่งคนที่เป็นโรคไตอยู่ก่อนแล้ว อาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจเพิ่มขึ้นอีกได้เช่นกัน
- หัวใจทำงานหนักเกินไป น้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญของเลือด เมื่อเราดื่มน้ำมากเกินไป ก็จะทำให้ปริมาณเลือดในร่างกายเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งเมื่อมีเลือดในร่างกายมากเกินไป ก็ไม่ได้ส่งผลดีต่อร่างกายอย่างแน่นอน เพราะหัวใจจะทำงานหนักขึ้น เพราะปริมาณเลือดเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง โดยอาจจะเกิดอาการชัก หมดสติ เส้นใยกล้ามเนื้อหัวใจขยาย ทำให้หัวใจล้มเหลว หรือหัวใจวายได้เช่นกัน ซึ่งเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตเลยทีเดียว
- รู้สึกเหนื่อย
เมื่อระบบภายในร่างกายต่าง ๆ อย่างเช่นไตและหัวใจทำงานหนักมากเกินไป เนื่องมาจากปริมาณน้ำที่เราดื่มจนเกินพอดี ก็จะทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยตามมา หรืออาจทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรง และง่วงนอนได้เช่นกัน
ภาวะน้ำเป็นพิษคืออะไร
ภาวะน้ำเป็นพิษ คือภาวะที่ร่างกายมีน้ำสะสมอยู่มากจนเกินไป ทำให้ปริมาณโซเดียมในเลือดต่ำ ซึ่งเกิดมาจากการดื่มน้ำในปริมาณมากจนเกินพอดี หรือการดื่มน้ำเร็วเกินไป ก็ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำเป็นพิษได้เช่นกัน ซึ่งสามารถพบได้ในบุคคลทั่วไป ที่มีการดื่มน้ำไม่เหมาะสม
แม้ว่าน้ำเปล่าจะเป็นของเหลวที่มีสารพิษอยู่น้อยมาก แต่หากดื่มมากเกินไปก็ส่งผลเสียต่อร่างกายได้เช่นกัน เพราะเมื่อเซลล์ในร่างกายมีการสะสมน้ำไว้ในปริมาณมาก จะทำให้อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายเกิดอาการบวม หรือที่เรียกว่าภาวะบวมน้ำนั่นเอง ซึ่งรวมไปถึงทำให้สมองบวมด้วย โดยจะส่งผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนอาจเกิดอาการเวียนหัว หน้ามืด ตาลาย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว ง่วงนอน หายใจลำบาก แน่นหน้าอก กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นตะคริว ชัก หมดสติ จนถึงขั้นหัวใจวายเสียชีวิตได้เช่นกัน

อาการของภาวะน้ำเป็นพิษ
- มีอาการบวมน้ำ ตัวบวม สมองบวม เนื่องมาจากมีน้ำในเซลล์ร่างกายมากเกินไป
- แน่นท้อง ท้องอืด ท้องผูก กินอาหารลำบาก หายใจลำบาก เนื่องมาจากมีน้ำในช่องท้องมากเกินไป
- คลื่นไส้ อาเจียน เวียนหัว เนื่องมาจากร่างกายมีโพแทสเซียมในเลือดปริมาณต่ำ
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อกระตุก เป็นตะคริว เนื่องมาจากร่างกายมีโซเดียมต่ำ จึงส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ
- ง่วงนอน อ่อนเพลีย เนื่องมาจากไตทำงานหนัก เพื่อขับน้ำส่วนเกินออกจากร่างกาย ทำให้เรารู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลีย และง่วงนอนนั่นเอง
- ชัก หมดสติ หัวใจล้มเหลว จนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ เนื่องมาจากร่างกายมีโซเดียมในเลือดไม่เพียงพอ จึงส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ
ผู้ที่เสี่ยงต่อภาวะน้ำเป็นพิษ
- ทารกอายุต่ำกว่า 9 เดือน เนื่องมาจากเด็กอ่อนที่มีอายุน้อยจะมีน้ำเป็นส่วนประกอบในร่างกายสูง โดยเฉลี่ยประมาณ 75% ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อภาวะน้ำเป็นพิษได้ง่าย ดังนั้นจึงไม่ควรให้เด็กดื่มน้ำในปริมาณที่มากเกินไปนั่นเอง
- นักกีฬาที่กระหายน้ำ ซึ่งหมายถึงนักกีฬาที่ออกแรงมาก ใช้ร่างกายอย่างหักโหม อย่างในการแข่งขันประเภทต่าง ๆ เช่น แข่งพายเรือ ไตรกีฬา วิ่งมาราธอน ปั่นจักรยานระยะไกล เป็นต้น โดยอาจทำให้ดื่มน้ำในปริมาณในคราวเดียวโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเสี่ยงต่อภาวะน้ำเป็นพิษอีกเช่นกัน
- ผู้ที่ใช้ยาบางชนิด ยาบางประเภทจะมีผลข้างเคียง ทำให้ผู้รับประทานเสียเหงื่อมากกว่าปกติ เช่น ยาในกลุ่ม MDMA ซึ่งเมื่อเสียเหงื่อมาก โซเดียมก็จะลดต่ำลงอยู่แล้ว แล้วยังทำให้กระหายน้ำมากขึ้นไปอีก ซึ่งเสี่ยงต่อภาวะน้ำเป็นพิษสูง จึงต้องปรึกษาแพทย์และใช้ความระมัดระวังก่อนใช้ยา

- ผู้ป่วยทางจิตเวช ผู้ป่วยบางคนจะมีพฤติกรรมที่ดื่มน้ำในปริมาณมากเป็นปกติ อาจจะเพราะคิดว่าตนเองรับประทานยาหลายตัว ทำให้เข้าใจผิดไปว่าการดื่มน้ำมาก ๆ เป็นเรื่องที่ดี แต่ความจริงแล้วทำให้เสี่ยงต่อภาวะน้ำเป็นพิษนั่นเอง ผู้ป่วยจิตเวชจึงต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด หรือจำกัดปริมาณในการดื่มน้ำด้วยตัวเองอย่างเคร่งครัด
- ผู้รับอาหารทางสายยาง ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยติดเตียง ที่รับประทานอาหารผ่านทางปากอย่างปกติไม่ได้ จึงต้องมีการรับอาหารผ่านทางสายยางเข้าช่วย เพื่อทำให้ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ ซึ่งอาหารทางสายยางนั้น มักจะมีน้ำเป็นส่วนประกอบค่อนข้างมาก เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยรับอาหารได้อย่างสะดวกนั่นเอง นอกจากนั้นอาหารประเภทนี้ยังมีปริมาณโซเดียมต่ำกว่าปกติ การให้ผู้ป่วยรับอาหารทางสายยางจึงมักเป็นหน้าที่ของพยาบาล หรือคนที่ผ่านการอบรมมาแล้วนั่นเอง ซึ่งจะลดความเสี่ยงและป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเกิดภาวะน้ำเป็นพิษนั่นเอง
- ผู้ที่ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มักจะมีอาการกระหายน้ำขณะดื่มอยู่บ่อย ๆ และอาจต้องการขับสารพิษออกจากร่างกาย จึงแก้ด้วยการดื่มน้ำเปล่าในปริมาณมาก ๆ เพื่อให้ร่างกายขับของเสียออกมา แต่หากดื่มน้ำมากจนเกินไป ก็อาจทำให้เกิดภาวะน้ำเป็นพิษได้อีกเช่นกัน
วิธีป้องกันภาวะน้ำเป็นพิษ

- ดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอต่อร่างกาย ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป โดยไม่ควรดื่มน้ำเกิน 3 ลิตรต่อวัน เพราะจะทำให้เกิดภาวะโซเดียมในร่างกายต่ำ หรือเกิดภาวะน้ำเป็นพิษนั่นเอง หรือสังเกตได้จากสีปัสสาวะที่ใสจนเกินไป
- เมื่อทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงหรือเสียเหงื่อมาก เช่น การออกกำลังกาย การยกของหนัก เป็นต้น ให้ดื่มเครื่องดื่มที่มีเกลือแร่ผสม เพื่อเป็นการรักษาความสมดุลของปริมาณโซเดียมในร่างกาย
- หากมีโรคประจำตัวที่ต้องจำกัดปริมาณการดื่มน้ำ เช่น โรคไต โรคเบาหวาน โรคจิตเวช โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เป็นต้น ให้ปรึกษาการดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมกับแพทย์ประจำตัว หรือแพทย์ที่รักษาอยู่ รวมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- ไม่ซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาที่ไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้าน เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ เช่น คอแห้ง ปากแห้ง กระหายน้ำ หรือปัสสาวะบ่อย ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำเป็นพิษได้ทั้งสิ้น
การรักษาภาวะน้ำเป็นพิษ

- จำกัดปริมาณการดื่มน้ำในแต่ละวันให้เหมาะสม หรือตามคำสั่งของแพทย์
- รับประทานอาหารที่มีปริมาณโซเดียมที่สูงขึ้น หรืออาหารที่มีรสเค็ม ตามคำแนะนำของแพทย์
- รับประทานยาที่มีโซเดียมโดยเฉพาะ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีปริมาณโซเดียมในเลือดต่ำมาก
- รับประทานยาขับปัสสาวะ ตามที่แพทย์สั่ง
- รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง ไม่หยุดยาเอง หรือรับประทานยาตัวอื่น ๆ นอกเหนือจากที่แพทย์สั่ง
- มาพบแพทย์ตามนัดเสมอ
แม้ว่าภาวะน้ำเป็นพิษจะส่งผลเสียต่อร่างกายมากมาย ซึ่งอาจรุนแรงจนถึงขึ้นเสียชีวิตได้ แม้ว่าจะฟังดูน่ากลัว แต่หากเราปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องและเหมาะสม ดื่มน้ำในปริมาณที่พอดี รับประทานยาตรงเวลาอย่างสม่ำเสมอ เราก็จะสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำเป็นพิษได้เช่นกัน ดังนั้นเราจึงไม่ควรละเลยต่อเรื่องเล็กน้อยอย่างการดื่มน้ำ และหันมาใส่ใจสุขภาพของตนเองและคนที่คุณรักในทุก ๆ ด้าน เพียงเท่านี้เราก็จะมีสุขภาพร่างกายที่ดี พร้อมที่จะไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวันได้แล้วค่ะ