ความดันโลหิตสูงคือ ภาวะที่ค่าของความดันในหลอดเลือดแดงสูงเกินกว่าระดับที่กำหนด โดยค่าความดันปกติไม่ควรเกิน 140/90 มม.ของปรอท หากค่าความดันมากกว่านี้ก็จะอยู่ในภาวะความดันโลหิตสูงนั่นเอง ซึ่งการที่บุคคลหนึ่งมีความดันโลหิตสูงต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน จะทำให้มีความเสี่ยงต่อร่างกายได้ อาจทำให้อวัยวะภายในร่างกายเสื่อมสภาพลง และอาจป่วยเป็นโรคอื่นแทรกซ้อนที่อันตรายได้ เช่น หลอดเลือดแตกหรือตีบ ทำให้อาจเป็นโรคอัมพาต อัมพฤกษ์ ตามมา ถ้าร้ายแรงก็อาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวายเฉียบพลัน ซึ่งเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้เช่นกัน
สาเหตุของโรค
โรคความดันโลหิตสูงเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน ซึ่งมีทั้งเกิดจากปัจจัยที่ควบคุมได้และไม่ได้ ดังนี้คือ
ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้
- กรรมพันธุ์ จากการสำรวจพบว่า ผู้ที่มีพ่อแม่หรือครอบครัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง มีโอกาสป่วยเป็นโรคเดียวกันได้สูง
- เพศและอายุ จากการสำรวจพบว่า พบโรคนี้ในผู้ชายวัยก่อนอายุ 50 ปีมากกว่าผู้หญิงเป็น 2 เท่า แต่ในทางกลับกันเมื่อเลยอายุ 50 ปีไปแล้ว จะพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเป็น 2 เท่าเช่นกัน เพราะฮอร์โมนเพศหญิงลดลง ซึ่งมีผลต่อความยืดหยุ่นของเส้นเลือดนั่นเอง
ปัจจัยที่ควบคุมได้
- น้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน
- มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคไต ไขมันในเลือดสูง โรคเก๊าท์ เป็นต้น
- รับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัด
- การดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่เป็นประจำ
- ขาดการออกกำลังกายเป็นเวลานาน

อาการของโรค
- ปวดหัว เวียนหัว
- คลื่นไส้ อาเจียน
- เหนื่อยง่าย เหนื่อยหอบ
- หน้ามืด เป็นลม
- เจ็บหน้าอก
- ตาพร่ามัว มองเห็นไม่ค่อยชัด
- เลือดกำเดาไหล
อาการแทรกซ้อน
- ภาวะหัวใจโต
- เป็นโรคไตวายเรื้อรัง
- หลอดเลือดหัวใจอุดตันหรือตีบ
- เส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบ
- หัวใจวายอย่างเฉียบพลัน
- หัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว
- อัมพาต อัมพฤกษ์
- โรคสมองเสื่อม

ดังนั้นเราจึงควรต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองให้เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง ดังนี้
ปรับพฤติกรรม
- รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับมาตรฐาน ไม่อ้วนจนเกินไป
- หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-5 วัน ครั้งละ 30 นาทีขึ้นไป
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง
- ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอต่อร่างกาย อย่างน้อย 2-3 ลิตร ต่อวัน แต่ไม่ควรดื่มเกินวันละ 3 ลิตร เพราะอาจทำให้บวมน้ำ หรือเกิดภาวะน้ำเป็นพิษได้เช่นกัน
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เลี่ยงอาหารที่มีรสจัด โดยเฉพาะรสเค็ม รวมทั้งของมัน ของทอด และของหวาน
- หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป อาหารปรุงสำเร็จ อาหารแช่แข็ง ของกินเล่น เพราะมักมีปริมาณโซเดียมสูง
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และงดการสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด
- รู้จักจัดการกับความเครียดสะสมอย่างเหมาะสม โดยอาจเปลี่ยนไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ผ่อนคลาย เช่น ทำสมาธิ สวดมนต์ ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ ทำอาหาร เล่นดนตรี วาดรูป เป็นต้น
ดังนั้นเราจึงควรต้องหมั่นคอยสังเกตร่างกายของตัวเอง และควบคุมพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตัวเองให้มีคุณภาพ เพื่อให้ห่างไกลจากโรคความดันโลหิตสูง และโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่จะตามมาในอนาคตนั่นเอง