ยาแก้ปวด มีกี่ชนิด อะไรบ้าง?

ยาแก้ปวด

ยาแก้ปวด คือยาที่ช่วยบรรเทาอาการปวดตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดคอ ปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดเข่า ปวดกล้ามเนื้อ ปวดฟัน เป็นต้น โดยส่วนใหญ่คนเรามักซื้อยาแก้ปวดมารับประทานเอง ซึ่งบางครั้งอาจใช้โดยไม่รู้รายละเอียดเกี่ยวกับตัวยามากนัก จึงอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ ไม่ว่าจะเป็นผลข้างเคียงของยา หรืออาจรับประทานยาแก้ปวดผิดชนิด ทำให้ไม่ได้ผลในการรักษา ดังนั้นบทความนี้จึงได้นำข้อมูลเกี่ยวกับยาแก้ปวดมาให้อ่านกัน โดยยาแก้ปวดแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

ยาแก้ปวดชนิดไม่เสพติด

เป็นยาแก้ปวดชนิดที่มีฤทธิ์ไม่รุนแรง จึงสามารถระงับอาการปวดได้ค่อนข้างต่ำจนถึงปานกลาง แต่ก็มีความปลอดภัย บางตัวอาจมีทั้งคุณสมบัติที่สามารถลดไข้และแก้ปวดได้ด้วย เช่น พาราเซตามอล ซึ่งเป็นยาแก้ปวดที่ทุกคนรู้จักกันดี มีฤทธิ์แก้อาการปวดและช่วยบรรเทาไข้ ส่วนบางตัวก็มีคุณสมบัติช่วยแก้อักเสบได้ เช่น แอสไพริน ไฮบูโพรเพน เป็นต้น ซึ่งยาแก้ปวดเหล่านี้เป็นชนิดที่ไม่เสพติด รับประทานแล้วไม่ค่อยมีผลข้างเคียง

ยาแก้ปวดชนิดเสพติดได้

เป็นยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์รุนแรง สามารถระงับอาการปวดได้ในระดับสูง เช่น ปวดกระดูก ปวดอวัยวะภายใน ปวดเกร็งในช่องท้อง เป็นต้น ซึ่งมีทั้งชนิดแบบฉีดและแบบรับประทาน ซึ่งได้แก่ มอร์ฟีน โคดีอีน เมธาโดน เป็นต้น โดยสามารถระงับอาการปวดแบบเฉียบพลันและรุนแรงได้ ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น จึงมักใช้กันเฉพาะภายในโรงพยาบาล

ยาประเภทนี้ส่วนใหญ่มักจะออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ไม่รู้สึกปวด หรือปวดน้อยลงนั่นเอง ยาประเภทนี้ไม่มีฤทธิ์ในการแก้ไข้ และมักมีผลข้างเคียงตามมา เช่น เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก ง่วงซึม หายใจช้า เป็นต้น และหากรับยาเป็นเวลานาน ก็อากจะมีอาการเสพติดยาได้ จึงมักใช้ในกรณีที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น เช่น ใช้กับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย เป็นต้น

ยาพาราเซตามอล

ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว เรามักจะใช้แต่ยาแก้ปวดชนิดไม่เสพติดกันเท่านั้น เพราะหาซื้อได้ง่าย ราคาถูก และสามารถใช้กันได้ทั่วไป โดยยาแก้ปวดที่เรานิยมใช้ก็คือ พาราเซตามอลนั่นเอง ซึ่งเป็นยาสามัญประจำบ้านที่ต้องมีติดไว้เสมอ เพราะสามารถช่วยแก้ปวดและลดไข้ได้ และไม่ค่อยระคายเคืองต่อกระเพราะอาหารมากนัก แต่ก็ไม่ควรรับประทานติดต่อกันเกิน 7 วัน เพราะอาจจะส่งผลเสียต่อตับได้ ดังนั้นจึงควรรับประทานเฉพาะเมื่อมีอาการเท่านั้น

โดยปริมาณที่เหมาะสมสำหรับผู้ใหญ่ก็คือ 500-1,000 มิลลิกรัม หรือประมาณ 1-2 เม็ด ซึ่งให้รับประทานทุก ๆ 4-6 ชั่วโมงไม่ควรรับประทานเกินครั้งละ 1,000 มิลลิกรัม หรือ 2 เม็ด และไม่ควรรับประทานเกินวันละ 4,000 มิลลิกรัม หรือ 8 เม็ดนั่นเอง หากอาการปวดหรือไข้ไม่ลดลง หลังจากรับประทานยาต่อเนื่องกันแล้ว ควรจะรีบไปพบแพทย์จะดีที่สุด

จะเห็นได้ว่าแม้ยาแก้ปวดจะมีประโยชน์ แต่ก็มีโทษตามมาเช่นกัน หากเราใช้อย่างไม่ระมัดระวัง หรือตามที่ปริมาณกำหนด ดังนั้นก่อนใช้ยาใด ๆ ก็ตามควรอ่านฉลากก่อนทุกครั้ง หากมีข้อสงสัยก็ควรถามเภสัชกรหรือแพทย์ที่รักษาอยู่ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยนั่นเอง