ในปัจจุบันเป็นยุคดิจิทัลที่ประชากรโลกส่วนใหญ่มีการใช้คอมพิวเตอร์กันอย่างแพร่หลาย นอกจากนั้นยังรวมถึงโน้ตบุ๊ค สมาร์ตโฟน และแท็บเล็ตอีกด้วย ซึ่งต่างต้องใช้สายตาจ้องหน้าจอด้วยกันทั้งสิ้น และเป็นสิ่งที่ทุกคนใช้กันเป็นประจำ ติดต่อกันนหลายชั่วโมง ไม่ว่าจะใช้สำหรับทำงาน ทำการบ้าน เรียนออนไลน์ หรือความเพลิดเพลิน เช่น ดูหนัง ดูซีรีย์ อ่านหนังสือต่าง ๆ จึงทำให้เกิดโรคชนิดหนึ่งที่เรียกว่า โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม (Computer Vision Syndrome : CVS) ซึ่งโรคนี้มีผลต่อสายตาของเราโดยตรง
สาเหตุของโรค
โดยมักเกิดขึ้นกับคนที่ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอนานเกินกว่า 2 ชั่วโมง ใช้สายตาในห้องที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอ ท่านั่งไม่เหมาะสมกับการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือปรับระดับหน้าจอไม่ได้องศาที่เหมาะสม สายตาอยู่ใกล้กับหน้าจอมากเกินไป นอกจากนั้นตัวหนังสือในอุปกรณ์ทันสมัยเหล่านี้ยังต่างจากตัวหนังสือที่อยู่ในกระดาษธรรมดา เพราะตัวอักษรมักจะเคลื่อนไหวตลอดเวลา เมื่อเราเลื่อนเมาส์หรือปัดหน้าจอขึ้นลงนั่นเอง ทำให้สายตาต้องปรับโฟกัสอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน ส่งผลให้สายตามีการใช้งานมากกว่าปกติ

อาการของโรค
ซึ่งผลเสียก็คือจะทำให้ปวดตา ตาล้า ตาแห้ง ระคายเคืองตา ตาพร่ามัว สายตาสั้นขึ้นได้ง่ายกว่าเดิม เป็นต้น นอกจากผลกระทบทางสายตาแล้ว โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรมยังส่งผลต่อกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอ บ่า ไหล่ และหลัง รวมไปถึงอาการปวดหัวอีกด้วย และยิ่งอายุมากขึ้น คือประมาณ 40 ปีเป็นต้นไป จะเห็นผลเสียได้อย่างชัดเจน คือมองเห็นอะไรไม่ค่อยชัด ระยะการโฟกัสของตามีประสิทธิภาพลดลง หรืออาจเป็นโรคเกี่ยวกับสายตาตามมา เช่น โรควุ้นในประสาทตาเสื่อม โรคกระจกตาโก่ง โรคต้อกระจก โรคต้อหิน เป็นต้น
ดังนั้นเราจึงควรลดระยะเวลาที่ต้องใช้อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้น้อยลง ใช้เมื่อจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น คือใช้สำหรับการทำงานหรือการเรียน อาจจะใช้เพื่อความเพลิดเพลินบ้าง แต่ต้องกำหนดเวลาให้ชัดเจน และควรพักสายตาเป็นระยะ ๆ ซึ่งแม้ว่าโรคนี้จะส่งผลเสียต่อสายตาอยู่มาก แต่ก็ยังมีวิธีป้องกันและแก้ไขเบื้องต้นอยู่เช่นกัน

วิธีป้องกันและแก้ไขเบื้องต้น
- พักสายตาเป็นระยะ เมื่อใช้สายตาอยู่หน้าจอเป็นเวลานาน ๆ ให้พักสายตาเสียบ้าง โดยอาจหลับตาเป็นเวลา 20 วินาทีเป็นอย่างต่ำ หรือจะมองไปข้างหน้าในระยะ 20 ฟุตหรือประมาณ 6 เมตร เป็นเวลา 20 วินาทีก็ได้เช่นกัน และหากเลือกมองต้นไม้ที่มีสีเขียวก็จะทำให้รู้สึกสบายตาขึ้นอีกด้วย
- กะพริบตาบ่อย ๆ โดยปกติตามธรรมชาติของคนเรา เมื่อจ้องอะไรเป็นเวลานาน ๆ อย่างหน้าจอคอมพิวเตอร์ เราจะลืมกะพริบตาไปโดยอัตโนมัติ จึงต้องหมั่นเตือนตัวเองให้กะพริบตาบ่อย ๆ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตาที่มาจากน้ำหล่อเลี้ยงในตานั่นเอง ทั้งยังช่วยป้องกันอาการตาแห้ง ระคายเคืองตาอีกด้วย แต่สำหรับใครที่ใส่คอนแทคเลนส์หรือมีอาการตาแห้งมาก ก็อาจจะใช้น้ำตาเทียมหยอดช่วยได้ในระดับหนึ่งเช่นกัน
- ใส่แว่นแทนคอนแทคเลนส์ การใส่คอนแทคเลนส์นาน ๆ แน่นอนว่าต้องรู้สึกระคายเคืองตาและทำให้ตาแห้ง อีกทั้งส่วนใหญ่คอนแทคเลนส์มักจะไม่ค่อยชัดเท่ากับการใส่แว่น ดังนั้นจึงต้องใช้สายตาเพ่งหน้าจอคอมพิวเตอร์มากกว่าปกติ ซึ่งนอกจากจะทำให้ปวดตาแล้ว ยังเสี่ยงทำให้สายตาสั้นมากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย ดังนั้นจึงควรเปลี่ยนไปใช้แว่นสายตาแทนบ้างก็จะเป็นการดี
- ใส่แว่นกรองแสงสีฟ้า นอกจากแว่นสายตาจะช่วยลดอาการปวดตา ตาแห้งไปได้แล้ว หากใช้เลนส์พิเศษที่สามารถกรองแสงสีฟ้าจากหน้าจออิเล็กทรอนิกส์ด้วยแล้ว ซึ่งมีชื่อเรียกหลายชื่อว่า Blue Light block, Blue cut, Blue Control เป็นต้น ซึ่งหากใช้เลนส์ชนิดนี้ในการตัดแว่นสายตา ก็จะช่วยถนอมสายตาได้มากยิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยให้มองหน้าจอสบายตามากขึ้นอีกด้วย
- ปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ โดยเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราอาจหลงลืมไป เพราะการปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญเช่นกัน นอกจากจะช่วยให้ไม่ปวดตาแล้ว ยังช่วยปรับสรีระท่านั่งให้เหมาะสมต่อการทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์อีกด้วย โดยต้องปรับหน้าจอให้อยู่ต่ำกว่าระดับสายตาประมาณ 10-15 องศา และอยู่ห่างจากสายตาประมาณ 20-25 นิ้ว นอกจากนั้นควรปรับตัวอักษรหรือขยายหน้าจอเพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และควรปรับแสงสว่างหรือโทนสี รวมถึงความคมชัดให้พอดีกับค่าสายตาของเราอีกด้วย
- ไปตรวจสายตาเป็นประจำ ข้อสำคัญที่ลืมไม่ได้เลยก็คือ ต้องไปตรวจสายตาเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้งเป็นอย่างต่ำ แม้ว่าเราจะมั่นใจว่าดูแลสายตาดีแค่ไหนแล้วก็ตาม เพราะจักษุแพทย์มีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ตรวจสายตาเราได้อย่างละเอียดกว่ามาก ซึ่งนอกจากจะสามารถตรวจวัดระดับสายตาที่สั้นลงหรือยาวขึ้นได้แล้ว ยังสามารถตรวจโรคที่เกี่ยวกับสายตาได้อีกด้วย ซึ่งหากพบตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะสามารถทำการรักษาได้อย่างทันท่วงทีนั่นเอง
จะเห็นได้ว่าการป้องกันและแก้ไขโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรมมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน หากคุณนำไปลองใช้และปฏิบัติตาม ก็จะทำให้สามารถลดความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้และโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องตามมาได้อีกด้วย เพราะสายตาคืออวัยวะส่วนหนึ่งที่สำคัญของมนุษย์ ซึ่งเรามีเพียงคู่เดียวตลอดชีวิต ดังนั้นเราจึงควรใส่ใจและดูแลอย่างเป็นพิเศษ เพื่อให้ดวงตาคู่นี้อยู่กับเราไปได้อย่างยาวนานนั่นเอง