ภาวะ Burnout เป็นอย่างไร และมีอาการแบบไหน?

Burnout

ภาวะ Burnout มีชื่อเรียกภาษาไทยว่า ภาวะหมดไฟในการทำงาน ซึ่งเป็นโรคใหม่ที่ได้รับการจดทะเบียนจากองค์การอนามัยโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงาน โดยอาจจะเกิดจากความเครียดสะสมต่าง ๆ จากที่ทำงาน หรือได้รับแรงกดดันอื่น ๆ ที่ส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจ ร่วมทั้งร่างกายก็รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย มองทุกอย่างในแง่ลบ มีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงาน หรือเก็บตัวอยู่คนเดียว ไม่คุยกับใคร มีความเหินห่างกับบุคลากรในที่ทำงาน ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ซึ่งอาจทำให้มีปัญหาต่าง ๆ ตามมาภายหลังได้เช่นกัน

สาเหตุ

  • ทำงานหนักเกินไป ปริมาณงานมากเกินจะรับไหว ไม่มีเวลาพักผ่อนส่วนตัว เอางานกลับไปทำต่อที่บ้าน
  • ขาดอำนาจการตัดสินใจในงานต่าง ๆ ต้องทำงานภายใต้แรงกดดันจากทั้งหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน
  • งานมีความยากซับซ้อนเกินไป หรือต้องทำหน้าที่หลายอย่างด้วยตัวคนเดียว งานมีความเร่งรีบเกินไป
  • รู้สึกว่าตนเองไม่สำคัญ ไม่มีตัวตน ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในทีม หรือทีมไม่เห็นความสำคัญของเรา
  • ได้รับค่าตอบแทนที่น้อยเกินไป หรือไม่เคยได้รับคำชมเมื่อทำงานได้ดีหรือทำงานสำเร็จ
  • ไม่ได้รับความยุติธรรมในที่ทำงาน หัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานไม่เชื่อใจในตัวเรา และไม่ยอมเปิดใจหรือรับฟังปัญหาร่วมกัน มีปัญหากับหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงาน
  • ระบบการบริหารงานขององค์กรที่ทำอยู่ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการหรือเป้าหมายของเราได้
  • งานในองค์กรไม่เป็นระบบ แบ่งงานกันไม่ชัดเจน ขาดฝ่ายบริหารที่มีประสิทธิภาพ

อาการ

  • หดหู่ ซึมเศร้า ท้อแท้ ผิดหวัง ไม่พอใจกับงานที่ทำ ไม่มีความสุขในการทำงาน
  • เหนื่อยล้า ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว นอนไม่ค่อยหลับ ฝันร้าย เบื่ออาหารหรืออยากอาหารมากกว่าเดิม
  • อารมณ์แปรปรวนได้ง่าย อารมณ์หุนหันพลันแล่น หงุดหงิดบ่อย โมโหง่าย ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ค่อยได้
  • นึกถึงปัญหาในการทำงานตลอดเวลา แม้ในเวลาพักรับประทานอาหาร หรือกลับบ้าน และเข้านอน
  • ขาด ลา มาสาย ดองงาน ผัดวันประกันพรุ่ง บริหารจัดการเวลาในการทำงานไม่ได้
  • ไม่อยากตื่นไปทำงาน ขาดความกระตือรือร้น เซื่องซึม เชื่องช้า
  • มองโลกในแง่ลบ มองคนอื่นในแง่ร้าย ระแวงคนรอบข้างและเพื่อนร่วมงาน มักกล่าวโทษคนอื่นเสมอ
  • คิดว่าตัวเองไม่ดีพอ รู้สึกว่าตัวเองไม่เหมาะสมกับงานนี้ ไม่มั่นใจในศักยภาพของตนเอง
  • ขาดความตั้งใจในการทำงาน หรือไม่มีความคิดที่อยากทำงานให้ประสบความสำเร็จ
  • ไม่มีสมาธิในการทำงาน ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ทำงานผิดพลาดบ่อย อาจเหม่อลอยไปคิดเรื่องอื่น
  • มีความคิดอยากลาออกจากงาน
  • เพิ่งพาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ เหล้า หรือสารเสพติด เพื่อลดความเครียดจากที่ทำงาน

วิธีแก้ไขเบื้องต้น

  • หาเวลาพักผ่อนให้ตัวเองบ้าง วางแผนกิจกรรมในวันหยุด หรืออาจกำหนดวันลาพักร้อนล่วงหน้า
  • อย่าโหมทำงานจนหนักเกินไป อย่าเอางานกลับไปทำต่อที่บ้าน ควรจัดสรรเวลาให้ตัวเองได้มีเวลาส่วนตัวบ้าง
  • ไม่ด่วนตัดสินใครก่อน ยอมรับในความแตกต่างซึ่งกันและกัน เปิดใจรับฟังความคิดเห็นจากผู้อื่น มีความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ที่กดดัน
  • รู้จักปฏิเสธและขอความช่วยเหลือให้เป็น หากงานไหนที่เกินความสามารถของเรา ก็อาจจะขอปฏิเสธไม่ทำได้ และหากงานไหนที่ไม่เข้าใจหรือไม่เคยทำ อาจขอความช่วยเหลือหรือคำแนะนำจากหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานก็ได้เช่นกัน
  • พบปะเพื่อนฝูง สังสรรค์ ร่วมงานกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ผูกมิตรกับเพื่อนร่วมงาน หรืออาจจะระบายความรู้สึกในใจกับคนที่สนิทก็ได้
  • ปรับเปลี่ยนทัศนคติหรือมุมมองกับงานที่ทำอยู่ พยายามหาข้อดีหรือประโยชน์จากงานนั้น ๆ มองเห็นคุณค่าในงานที่ทำ ทั้งต่อตนเอง ส่วนรวม และสังคมภายนอก
  • ปรึกษาเพื่อนร่วมงานที่สนิทหรือไว้ใจ หรือหากหัวหน้าเป็นบุคคลที่สามารถรับฟังปัญหาเหล่านี้ได้ ก็อาจลองปรึกษาปัญหาของตัวเองกับหัวหน้าดู เพื่อจะได้หาทางแก้ไขปัญหาและทางออกที่ดีร่วมกัน
  • หากิจกรรมอย่างอื่นทำ ในระหว่างที่ไม่ได้ทำงาน อาจเป็นงานอดิเรกที่ชอบก็ได้ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ เลี้ยงสัตว์ ปลูกต้นไม้ ทำอาหาร ออกกำลังกาย เป็นต้น
  • ดูแลสุขภาพร่ายและจิตใจของเราให้ดี โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอในทุก ๆ วัน ออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยทำให้เกิดความสมดุลของร่างกาย และส่งผลให้อารมณ์แจ่มใสมากยิ่งขึ้น
  • หากพบว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้วยตนเองได้ หรือปัญหาเรื้อรังรุนแรงเกินจะทนไหว ให้ไปพบจิตแพทย์ เพื่อขอคำปรึกษาหรือคำแนะนำ สำหรับวิธีรับมือกับภาวะหมดไฟในการทำงานนั่นเอง

หากคุณพบว่าตนเองมีอาการดังกล่าวเหล่านี้ ซึ่งก็เสี่ยงที่จะกลายเป็นภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout ได้ อย่านิ่งดูดาย ปล่อยตัวเองให้รู้สึกแย่ลงเรื่อย ๆ หรือพยายามอดทนอดกลั้นจนถึงที่สุด เพราะเมื่อถึงจุด ๆ นั้น อาจจะทำการแก้ไขหรือรักษาได้ยาก รวมทั้งอาจทำให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมาอีกด้วย เช่น โรคเครียด โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ดังนั้นอย่าลืมสำรวจตัวเองด้วยว่าตอนนี้เรามีความรู้สึกและความคิดต่อการทำงานอย่างไรบ้าง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาภายหลังนั่นเอง