โรคโลหิตจางเป็นโรคที่คนส่วนใหญ่มักเคยได้ยินชื่อผ่านหูกัน แต่อาจจะไม่เข้าใจหรือรู้ถึงสาเหตุในการเกิดโรคนี้อย่างชัดเจน รวมทั้งวิธีการตรวจวินิจฉัยและการรักษาอย่างถูกต้อง ว่ามีวิธีแบบไหน และต้องปฏิบัติตัวแบบใดบ้าง บทความนี้จึงมานำเสนอข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับโรคโลหิตจางให้ทุกคนได้อ่านกันค่ะ
สาเหตุ
- เสียเลือดจากเหตุการณ์ต่าง ๆ อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุ การผ่าตัด การคลอดบุตร การแท้งบุตร มีประจำเดือน เป็นโรคริดสีดวงทวาร หรือป่วยเป็นโรคพยาธิปากขอ ซึ่งเหตุการณ์และอาการป่วยต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนทำให้ร่างกายสูญเสียเลือดในปริมาณค่อนข้างมาก จึงเป็นเหตุให้เกิดภาวะหรือโรคโลหิตจางตามมาได้
- ขาดธาตุเหล็กและสารอาหาร การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ หรือไม่ครบ 5 หมู่ ทำให้เราขาดวิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหาร โดยเฉพาะธาตุเหล็ก กรดโฟลิก และวิตามินบี 12 ซึ่งช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็กของร่างกาย หากเราขาดสารอาหารเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ก็อาจจะทำให้ป่วยเป็นโรคโลหิตจางได้เช่นกัน
- ฮอร์โมนอิริโธรโพอิตินต่ำ ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้มีหน้าที่ในการกระตุ้นให้ไขกระดูกผลิตเม็ดเลือดแดง หากฮอร์โมนชนิดนี้หลั่งออกมาได้น้อยลง ก็จะทำให้ร่างกายผลิตเม็ดเลือดแดงน้อยลงไปด้วย ทำให้เกิดโรคโลหิตจางนั่นเอง
- ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง โรคบางชนิดก็ก่อให้เกิดภาวะโลหิตจางตามมาได้ เช่น โรคมะเร็ง โรคไตวายเรื้อรัง โรคเอดส์ โรครูมาตอยด์ เป็นต้น
- ป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวกับไขกระดูก เนื่องจากไขกระดูกคืออวัยวะส่วนที่ทำการผลิตเม็ดเลือดแดง หากเราป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับไขกระดูก เช่น เกิดการติดเชื้อในไขกระดูก ไขกระดูกฝ่อ หรือเป็นโรคมะเร็งไขกระดูก ก็จะส่งผลให้การผลิตเม็ดเลือดแดงผิดปกติ หรือเสื่อมประสิทธิภาพลงนั่นเอง
- อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ ซึ่งคนที่กำลังจะกลายเป็นคุณแม่ในไม่อีกกี่เดือนข้างหน้า ก็อาจจะต้องประสบกับปัญหาขาดสารอาหาร รวมทั้งธาตุเหล็ก ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะโลหิตจางได้ อันเนื่องมาจากลูกในครรภ์ดูดซึมสารอาหารจากมารดา หากมารดารับประทานอาหารไม่เพียงพอ ก็จะทำให้ตนเองเกิดภาวะขาดสารอาหารหรือธาตุเหล็กได้เช่นกัน

อาการ
- เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ไม่ค่อยมีแรง
- ตัวซีด หรือตัวเหลือง
- เล็บบางลง เล็บเปราะหักง่าย
- ปวดหัว มึนงง หน้ามืดบ่อย
- หายใจลำบาก เมื่อต้องออกแรง
- มือและเท้าเย็น ต่างจากคนปกติ
- เจ็บหน้าอก มีอาการใจสั่น
- บางรายอาจมีอาการแสบที่ลิ้น
- หากอาการรุนแรง อาจถึงขึ้นเป็นลม หมดสติ หรือหัวใจวายได้
จะเห็นได้ว่าอาการของคนที่ป่วยเป็นโรคโลหิตจาง มีตั้งแต่อาการเบา ๆ จนถึงขั้นรุนแรง ซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ ดังนั้นหากใครที่มีอาการเหล่านี้ ควรที่จะไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย ว่าคุณป่วยเป็นโรคโลหิตจางหรือไม่
การตรวจและวินิจฉัย
- การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด โดยดูจากลักษณะของเม็ดเลือดว่ามีรูปร่าง ขนาด ปริมาณ และสีที่สมบูรณ์หรือไม่
- การตรวจชนิดและปริมาณของฮีโมโกลบิน เป็นการตรวจนับปริมาณของฮีโมโกลบิน ว่าอยู่ในปริมาณปกติหรือไม่ และเป็นฮีโมโกลบินชนิดใดบ้าง
- การตรวจปริมาณตัวอ่อนของเม็ดเลือดแดง เป็นการตรวจนับปริมาณตัวอ่อนของเม็ดเลือดแดง เพื่อดูว่าไขกระดูกมีการผลิตเม็ดเลือดแดงอย่างปกติหรือไม่
- การตรวจระดับธาตุเหล็ก เป็นการตรวจวัดระดับธาตุเหล็กในร่างกาย ว่าเข้าเกณฑ์ระดับมาตรฐานหรือไม่
- การตรวจหาเลือดในอุจจาระ เพื่อตรวจดูว่าอวัยวะในระบบทางเดินอาหารและลำไส้ ว่ามีแผลที่ทำให้สูญเสียเลือดหรือไม่
- การตรวจไขกระดูก เป็นการตรวจโดยเจาะไขกระดูกสันหลังขึ้นมา เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุความผิดปกติของจำนวนเม็ดเลือดในร่างกาย

การรักษา
- เปลี่ยนพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบ 5 หมู่ โดยเน้นอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ซึ่งได้แก่ ไข่แดง เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล ผักใบเขียว นม โยเกิร์ต ธัญพืชต่าง ๆ เป็นต้น รวมทั้งรับประทานวิตามินซี หรืออาหารที่มีวิตามินซีสูง ก็จะช่วยดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีอีกเช่นกัน แต่ต้องระวังอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง จึงควรรับประทานอาหารเหล่านี้ในปริมาณที่เหมาะสมกับร่างกายของเราด้วย
- รับประทานยา หรือรับฮอร์โมน สำหรับบางคนการรับประทานอาหารอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ จึงต้องมีการรับประทานยาหรือรับฮอร์โมนเสริม เช่น ธาตุเหล็ก กรดโฟลิก วิตามินซี วิตามินบี 12 หรือรับการฉีดฮอร์โมนอิริโธรโพอิตินเข้าสู่ร่างกาย เพื่อกระตุ้นให้ไขกระดูกผลิตเม็ดเลือดแดงให้มากขึ้นนั่นเอง
- เปลี่ยนถ่ายเลือด เป็นวิธีรักษาในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะโลหิตจางขั้นรุนแรง ซึ่งต้องกระทำโดยแพทย์เท่านั้น โดยผู้ป่วยอาจจะมีอาการหน้ามืด เป็นลม ไร้เรี่ยวแรง หายใจลำบาก ไม่สามารถลุกขึ้นจากเตียงได้ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยเพิ่มระดับฮีโมโกลบินในร่างกายให้สูงขึ้นได้ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้นนั่นเอง
- ปลูกถ่ายเซลล์ สำหรับใครที่ป่วยเป็นโรคโลหิตจางเรื้อรัง หรือต้องการรักษาให้หายขาด การปลูกถ่ายเซลล์จากผู้อื่นที่มีความเข้ากันได้ ก็เป็นวิธีทางการแพทย์อีกวิธีหนึ่ง ที่มีการพัฒนาความก้าวหน้าสู่โลกยุคปัจจุบัน โดยการนำเซลล์ที่ปกติไปแทนเซลล์ที่มีปัญหา ร่างกายก็จะสามารถผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- การผ่าตัด หากผู้ป่วยเกิดการสูญเสียเลือดในปริมาณมาก อาจเนื่องมาจากอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเกิดการบาดเจ็บ ฉีกขาด หรือเป็นแผล แพทย์ก็จะทำให้การผ่าตัดและรักษาอวัยวะส่วนนั้นไม่ให้มีเลือดออก นอกจากนั้นยังมีการผ่าตัดในกรณีพิเศษ สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจางขั้นรุนแรงและม้ามโต โดยที่แพทย์ตรวจไม่พบว่ามีเลือดออกจากอวัยวะส่วนอื่น แพทย์ก็จะทำการผ่าตัดม้ามออกไป เพื่อลดการทำลายเม็ดเลือดแดงในม้ามที่ผิดปกตินั่นเอง
แม้ว่าโรคโลหิตจางอาจจะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ก็สามารถทำให้ถึงแก่ชีวิตได้เช่นกัน ดังนั้นเราจึงควรดูแลใส่ใจตัวเองและคนที่คุณรักให้ดี โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่อยู่เป็นประจำ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อร่างกายในแต่ละวัน รวมทั้งนอนหลับพักผ่อนให้ครบอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้คุณมีสุขภาพดี ห่างไกลจากโรคโลหิตจางและโรคต่าง ๆ ได้แล้ว