โรคลมหลับคืออะไร อาการเป็นแบบไหน

โรคลมหลับ

ความง่วงหงาวหาวนอนนับเป็นเรื่องปกติของบุคคลทั่วไป แต่สำหรับบางคนนั้น จะมีอาการง่วงแทบจะตลอดเวลา แม้จะผ่านการนอนหลับพักผ่อนมาหลายชั่วโมงแล้วก็ตาม หรืออาจวูบหลับได้ในขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ขณะนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ ขณะเขียนหนังสือ ขณะทำอาหาร หรือขณะขับรถ ซึ่งบางกิจกรรมหากวูบหลับไป จะเป็นอันตรายอย่างมากต่อผู้ป่วย ดังนั้นเราจึงควรมาทำความรู้จักกับโรคนี้ให้ดียิ่งขึ้นกันดีกว่าค่ะ

สาเหตุ

ในปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดเกี่ยวกับโรคนี้ แต่มีการสันนิษฐานว่าเกิดจากสารเคมีในสมองมีความผิดปกติ ซึ่งสารนั้นมีชื่อว่า ไฮโปเครติน (Hypocretin) ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมการนอนหลับ โดยมีการตรวจพบว่าผู้ที่ป่วยเป็นโรคลมหลับ มักจะมีปริมาณสารนี้ต่ำกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย อันได้แก่

  • ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นภาวะที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ โดยอาจเกิดภาวะภูมิคุ้มกันในร่างกายอาจทำร้ายตนเอง สร้างโปรตีนบางชนิดขึ้นมาขัดขวางการทำงานหรือการผลิตของสารเคมีที่ชื่อว่าไฮโปเครติน จึงทำให้สารนี้ลดต่ำลง และเกิดเป็นโรคลมหลับในที่สุด
  • ปัญหาทางสุขภาพ โดยอาจเกิดจากความผิดปกติในสมอง เช่น มีเนื้องอกในสมอง เป็นมะเร็งทางสมอง หรือสมองอักเสบ เป็นต้น ซึ่งส่งผลต่อการผลิตสารไฮโปเครตินอีกเช่นกัน
  • ปัญหาด้านอื่น ๆ อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย ความผิดปกติของระบบพันธุกรรม หรือการเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนอย่างฉับพลัน ก็สามารถทำให้เกิดโรคลมหลับได้เช่นกัน

อาการ

ผู้ป่วยโรคลมหลับส่วนใหญ่มักมีอาการที่แสดงออกมาชัดเจนในช่วงวัยรุ่น คือประมาณ 10-25 ปี โดยมีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกันดังต่อไปนี้

  • ง่วงนอนมากในตอนกลางวัน ซึ่งมักเป็นอาการเบื้องต้นที่คนส่วนใหญ่เป็นกัน โดยสามารถหลับได้ในทุกอิริยาบถ เช่น ระหว่างรับประทานอาหาร ระหว่างนั่งเรียนหรือทำงาน ระหว่างพูดคุยสนทนากับบุคคลอื่น ๆ ซึ่งการงีบหลับในช่วงสั้น ๆ จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น
  • มีอาการวูบหลับอย่างฉับพลัน (Cataplexy) หรืออาการที่ผล็อยหลับโดยไม่รู้ตัว โดยจะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงอย่างกะทันหัน คอตกและวูบหลับไป เมื่อผู้ป่วยมีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
  • มีอาการคล้ายโดนผีอำ (Sleep paralysis) เป็นอาการที่ผู้ป่วยไม่สามารถขยับตัวหรือส่งเสียงได้ขณะครึ่งหลับครึ่งตื่น หรือตื่นแล้วแต่ยังอยู่บนที่นอน แต่ยังสามารถกระพริบตาและหายใจได้ ซึ่งเป็นภาวะที่น่าตกใจ จนหลายคนอาจเข้าใจผิดว่าโดนผีอำ แต่ในทางการแพทย์สามารถอธิบายได้ และไม่ได้เป็นอันตรายต่อร่างกายแต่อย่างใด
  • มีอาการประสาทหลอน (Hypnagogic hallucination) โดยผู้ป่วยอาจจะเห็นภาพหลอน เห็นเป็นผี สัตว์ประหลาด ปีศาจ หรือสิ่งที่น่ากลัวต่าง ๆ สาเหตุอันเนื่องมาจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองนั่นเอง
  • มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น สมาธิสั้น กระวนกระวาย ปวดหัว ขี้ลืม ซึมเศร้า เป็นต้น ซึ่งก็ส่งผลเสียต่อผู้ป่วยอีกเช่นกัน

การวินิจฉัย

โดยการตรวจวินิจฉัยของโรคลมหลับ แพทย์จะทำการสังเกตอาการต่าง ๆ ของร่างกายของเราขณะนอนหลับอยู่นั่นเอง ซึ่งผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจและยืนยันก่อนว่า ไม่ได้ป่วยเป็นโรคร้ายแรงแต่อย่างใด จึงสามารถเข้าทำการตรวจความง่วงนอน (multiple sleep latency test : MSLT) และการตรวจการนอนหลับ (polysomnogram) ได้ โดยแพทย์จะทำการจดบันทึกและแปลผลออกมาวิเคราะห์ดูว่า คุณป่วยเป็นโรคลมหลับหรือไม่

การรักษา

แม้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคลมหลับนี้ให้หายขาดได้ แต่ก็มีหนทางที่จะช่วยรักษาและบรรเทาอาการของผู้ป่วยให้ดีขึ้น ส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและการนอนหลับดีขึ้นได้เช่นกัน โดยมีวิธีการต่าง ๆ ดังนี้

  • รับประทานยา ซึ่งยาที่ใช้รักษาโรคนี้จะมีหลายประเภทด้วยกัน เช่น ยากระตุ้นประสาททำให้สมองมีการตื่นตัว แต่ก็อาจมีผลข้างเคียงสำหรับผู้ใช้ยาบางรายได้เช่นกัน โดยส่วนใหญ่มักไม่ใช่อาการที่รุนแรง เช่น ปวดหัว ปากแห้ง คลื่นไส้ เป็นต้น นอกจากนั้นยังมียาที่ช่วยบรรเทาภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง ภาวะคล้ายโดนผีอำและประสาทหลอนได้ แต่อาจส่งผลทำให้ผู้ที่ได้รับยามีอาการคลื่นไส้ มีเหงื่อมากตอนหลับ เกิดการละเมอ น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น หรือส่งผลต่อระบบย่อยอาหาร รวมทั้งอาจส่งผลต่อสมรรถภาพทางเพศได้อีกด้วย
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การรักษาด้วยวิธีนี้อาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการรับผลข้างเคียงจากยา ซึ่งเป็นวิธีการรักษาเบื้องต้น โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนของผู้ป่วยให้เหมาะสม เช่น เข้านอนและตื่นตรงเวลาทุกวัน มีการผ่อนคลายร่างกายก่อนเข้านอน เช่น ทำสมาธิ ฟังเพลงเบา ๆ เป็นต้น หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายเป็นประจำ แต่ไม่ควรออกกำลังกายก่อนจะเข้านอน เพราะอาจจะทำให้นอนหลับได้ยากขึ้นนั่นเอง หรืออาจมีการงีบหลับระหว่างวัน เพื่อให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นขึ้น และควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจเป็นอันตรายหากเราวูบหลับไป เช่น การขับรถ การทำอาหาร การทำงานที่อยู่กับเครื่องจักร เป็นต้น

แม้ว่าโรคลมหลับยังไม่สามารถทราบสาเหตุที่แน่ชัด และยังไม่มีวิธีรักษาที่หายขาดอย่างถาวร แต่การไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดและถูกต้อง รวมทั้งได้รับการรักษาที่ถูกวิธี รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่เหมาะสม เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้คุณต่อสู้และอยู่กับโรคลมหลับได้อย่างสบายใจขึ้นแล้ว