การช้อปปิ้งอาจเป็นงานอดิเรกชิ้นโปรดของใครหลาย ๆ คน โดยเฉพาะสาว ๆ ที่ไม่อาจหักห้ามใจต่อสินค้าต่าง ๆ ที่สวยงามและน่ารักได้ จนอดใจไม่ไหวต้องมีไว้ในครอบครองจนได้ ซึ่งหากคุณเพลิดเพลินไปกับการช้อปปิ้งสิ่งของเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วล่ะก็ อาจจะไม่เป็นอะไร แต่หากคุณมีอาการเหมือนเป็นโรคเสพติดการช้อปปิ้ง นั่นก็แสดงว่าคุณเริ่มเข้าข่ายมีอาการป่วยทางจิต และอาจสร้างความเดือดร้อนให้ตัวคุณเองก็เป็นได้ เรามาทำความรู้จักโรคนี้กันดีกว่า
โรคเสพติดการช้อปปิ้งมีจริงไหม
โรคเสพติดการช้อปปิ้งเป็นโรคที่มีอยู่จริง โดยมีชื่อเป็นทางการว่า Shopaholic ซึ่งผู้ป่วยจะรู้สึกมีความสุขเมื่อได้ซื้อสิ่งของที่ตัวเองต้องการ และไม่อาจหยุดยั้งการช้อปปิ้งของตัวเองได้ แม้จะพยายามหักห้ามใจแล้วก็ตาม โดยสินค้าส่วนใหญ่ที่ซื้อมานั้น มักไม่ค่อยมีความจำเป็นต่อการใช้ในชีวิตประจำวันสักเท่าไหร่ อาจซื้อมาเพราะความชอบในรูปลักษณ์ของสินค้า หรือเพราะเป็นช่วงโปรโมชั่นที่สินค้าเหล่านั้นลดราคา จนต้องตาต้องใจกับสายนักช้อปปิ้งเป็นอย่างมาก
อาการของโรค Shopaholic
โดยอาการของโรคเสพติดการช้อปปิ้งนั้นอาจจะสังเกตได้ยาก เพราะมีลักษณะคล้ายกับคนที่ชอบการช้อปปิ้งทั่วไป โดยจะรู้สึกตื่นเต้นดีใจและมีความสุขเมื่อได้ช้อปปิ้ง มีการซื้อสินค้าแทบทุกวัน หรือสัปดาห์ละหลายครั้ง โดยมักจะซื้อของที่ไม่ค่อยได้นำมาใช้ประโยชน์ หรือไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้จริง ๆ แค่รู้สึกชอบและอยากได้เท่านั้น เมื่อซื้อแล้วก็อาจนำมาเก็บไว้ และช้อปปิ้งสินค้าอื่นต่อไปเรื่อย ๆ โดยผู้ป่วยอาจจะรู้สึกผิดต่อตัวเอง ที่ไม่สามารถหักห้ามใจในการซื้อของเหล่านั้นได้ แต่ก็ไม่สามารถเลิกได้เช่นกัน จึงเรียกว่าเป็นการเสพติดนั่นเอง โดยบางคนอาจจะมีหนี้สินที่ต้องจ่ายภายหลังตามมา เช่น ในแอปพลิเคชันช้อปปิ้งต่าง ๆ มีวงเงินอนุมัติให้คุณซื้อก่อนจ่ายทีหลังได้ หรืออาจเป็นหนี้บัตรเครดิต และอาจเปิดบัตรเครดิตใบใหม่ขึ้นมาเรื่อย ๆ ทำให้มีหนี้ค้างชำระที่ต้องจ่ายอยู่เป็นจำนวนมาก สร้างความเดือนร้อนทางการเงินให้กับตัวเอง และบางคนถึงขั้นต้องโกหกคนใกล้ชิดเพื่อให้ได้สิ่งของเหล่านั้นมา เช่น บอกว่าเพื่อนหรือแฟนซื้อให้ แต่ความจริงแล้วซื้อมาเองต่างหาก ซึ่งพอบุคคลเหล่านั้นมารู้ความจริงทีหลัง ก็อาจจะทำให้มีปากมีเสียงหรือทะเลาะกันได้ หรือบางคนก็อาจจะซื้อสินค้านั้นมาแล้วนำไปแอบซ่อนไว้ภายในตัวบ้านก็มีเช่นกัน

สาเหตุของโรคเสพติดการช้อปปิ้ง
- เกิดจากภาวะซึมเศร้า สำหรับคนที่ป่วยเป็นโรคนี้ มักจะมีโรคอื่น ๆ พ่วงตามมาด้วยเสมอ หนึ่งในนั้นก็คือโรคเสพติดการช้อปปิ้งนั่นเอง เพราะเวลาที่ช้อปปิ้ง ผู้ป่วยจะรู้สึกตื่นเต้น ดีใจ มีความสุข ซึ่งช่วยผ่อนคลายความเครียดของตัวโรคลงไปได้นั่นเอง
- ขาดความสุขในชีวิต จึงหาทางระบายออกด้วยการช้อปปิ้ง เพราะให้ความรู้สึกมีความสุข หากสั่งซื้อทางออนไลน์ เวลาที่ของมาส่งแต่ละครั้ง ก็เปรียบเสมือนการแกะห่อของขวัญ เหมือนได้ให้รางวัลแก่ตัวเอง
- ไม่มีความภาคภูมิใจในตนเอง จึงทดแทนด้วยการช้อปปิ้ง เพราะการที่เรารู้สึกได้เป็นเจ้าข้าวเจ้าของสิ่งใดสักอย่างหนึ่ง ทำให้เรามีความรู้สึกภาคภูมิใจ แม้จะเป็นความรู้สึกเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ตาม แต่ก็มีความหมายสำหรับผู้ป่วยอย่างยิ่ง เนื่องจากมีความรู้สึกว่าชีวิตของตนเองไม่ประสบความสำเร็จ อาจจะเรียนจบไม่สูง ทำงานที่มีเงินเดือนน้อย หรืออาจมีปมด้อยต่าง ๆ ในใจก็เป็นไปได้เช่นกัน
- ติดการใช้แอปพลิเคชันหรือเว็บไซด์สำหรับช้อปปิ้ง มักจะคอยกดติดตามโปรโมชั่นต่าง ๆ ไว้อยู่เสมอ แล้วเมื่อเห็นสินค้ากำลังลดราคา ก็ไม่พลาดที่จะซื้อทันที หรือบางทีโปรโมชั่นเหล่านั้นก็ขึ้นมาเองในจอมือถือของเรา ทำให้ต้องกดเข้าไปดู และอดใจไม่ได้ที่จะต้องสั่งซื้อทุกที ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ง่ายต่อการเป็นโรคนี้อีกเช่นกัน

วิธีการแก้ไขเบื้องต้น
- กดใส่ตะกร้าไว้ก่อน หากเป็นแอปพลิเคชันสำหรับซื้อของแล้วมักจะมีปุ่มให้กดสินค้าที่ถูกใจใส่ตะกร้าไว้ซึ่งเราสามารถกดได้มากเท่าที่เราต้องการแต่อย่าเพิ่งกดสั่งซื้อหรือชำระเงิน ให้ทดหรือจองไว้ในใจก่อน หากเป็นเว็บไซด์ก็สามารถกดถูกใจหรือกดบันทึกไว้ก่อนได้เช่นกัน ก็ช่วยให้คุณรู้สึกดีพอ ๆ กับการได้ซื้อสินค้าจริง รอให้เวลาผ่านไป อาจจะเป็นรุ่งเช้าของอีกวัน แล้วเราก็มาคิดพิจารณาอย่างถ้วนถี่ดูว่า สิ่งของชิ้นนี้จำเป็นสำหรับคุณหรือไม่ ซื้อมาแล้วจะได้ใช้ประโยชน์จริงไหม หรือซื้อมาแล้วอาจจะได้ใช้แบบนับครั้งได้ ถ้าเป็นเช่นกัน เราก็ค่อยกดลบออกจากตะกร้า ก็จะทำให้เราไม่ต้องเสียตังค์ไปกับสิ่งของที่ไม่จำเป็น
- กำหนดวงเงินสำหรับช้อปปิ้ง โดยในแต่ละเดือนคุณควรแยกเงินไว้เป็นส่วน ๆ เช่น ส่วนสำหรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้แก่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าที่พัก ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าผ่อนงวดรถ ค่าผ่อนบ้าน เป็นต้น แล้วก็แยกส่วนสำหรับเก็บออมไว้ใช้สำหรับในอนาคต แล้วค่อยมากำหนดวงเงินสำหรับช้อปปิ้งเป็นลำดับสุดท้าย ว่าเดือนนี้ต้องช้อปปิ้งไม่เกินเท่าไหร่ ก็จะทำให้เรามีวินัยต่อตัวเองมากขึ้น ไม่ใช้จ่ายเกินวงเงินที่กำหนด ทำให้เราสามารถควบคุมการใช้จ่ายของตัวเองได้ดีขึ้นอีกด้วย
- ทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อให้เห็นตัวเลขอย่างชัดเจน ทำให้เรารู้ว่าเราเสียเงินกับค่าอะไรไปบ้าง แล้วแต่ละอย่างเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องจ่ายหรือไม่ ทำให้เดือนถัดไปอาจมีการลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออก ทำให้มีค่าใช้จ่ายน้อยลง ส่งผลให้เรามีเงินเก็บออมมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งวิธีนี้ทำให้เรากลับมามีสติทบทวนตัวเอง ไม่ใช่ช้อปปิ้งไปเรื่อย ๆ จนไม่รู้ตัวเลขว่าหมดไปกี่บาทแล้ว ทำให้เราไม่เห็นตัวเลขจริง ซึ่งอาจทำให้เราตกใจในภายหลังก็เป็นได้
- ไปพบจิตแพทย์ สำหรับใครที่ไม่สามารถหักห้ามใจในการช้อปปิ้งได้จริง ๆ ไม่ว่าจะพยายามทำตามวิธีแก้ไขที่แนะนำมาทุกวิธีแล้วก็ตาม การไปพบจิตแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาและหาสาเหตุของการป่วยเป็นโรคนี้ ก็อาจจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด เพราะจิตแพทย์มีความรู้ในการรักษาและเชี่ยวชาญเป็นอย่างดี ซึ่งอาจมีคำแนะนำดี ๆ ไว้สำหรับเป็นแนวทางให้เราลดการเสพติดการช้อปปิ้งให้น้อยลงก็เป็นได้
สำหรับใครที่คิดว่าตัวเองเข้าข่ายที่จะเป็นโรคนี้ อย่าเพิ่งกังวลไป ให้คุณหันมาทำบัญชีรายรับรายจ่าย แยกเงินเป็นส่วน ๆ กำหนดวงเงินสำหรับช้อปปิ้งให้ชัดเจน คอยหมั่นเตือนตัวเองอยู่เสมอ โดยการตั้งคำถามว่า สิ่งที่กำลังจะซื้อจำเป็นหรือไม่ เราจะเอาไปใช้ทำอะไร ที่บ้านมีของชนิดเดียวกันที่ใช้ได้อยู่หรือเปล่า นอกจากนั้นการหางานอดิเรกอย่างอื่นทำ ก็เป็นทางเลือกที่ดีอีกเช่นกัน ทำให้คุณไม่หมกหมุ่นอยู่กับการช้อปปิ้งแต่เพียงอย่างเดียว ลองหันไปออกกำลังกาย ทำอาหาร ปลูกผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ อ่านหนังสือ ร้องเพลง เล่นเกม หรือดูทีวีก็ได้ ซึ่งจะทำให้คุณมีความสุขโดยอาจจะไม่ต้องเสียเงินสักบาทเลยก็ได้เช่นกัน