การใส่ใจดูแลสุขภาพของตนเองรวมถึงคนรอบข้างเป็นสิ่งที่ดี และเป็นสิ่งที่สมควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้เรามีสุขภาพแข็งแรง พร้อมสู้กับโรคภัยต่าง ๆ ได้ และยังทำให้สุขภาพจิตดี อารมณ์แจ่มใสตามไปด้วย แต่ก็ยังมีความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ ที่หลายต่อหลายคนยังคนนำมาใช้และปฏิบัติกันอยู่ ซึ่งแทนที่จะทำให้ร่างกายแข็งแรง แต่อาจกลับทำให้ร่างพังแทนได้ จะมีความเชื่ออะไรบ้างนั้น ไปอ่านกันดีกว่าค่ะ
กินแต่ผักอย่างเดียว
แม้ว่าผักจะมีประโยชน์ เพราะอุดมไปด้วยกากใยอาหารจากธรรมชาติ วิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่การรับประทานผักแต่เพียงอย่างเดียว ร่างกายจะไม่ได้รับพลังงานที่เพียงพอ อีกทั้งยังกินอาหารไม่ครบ 5 หมู่อีกด้วย ซึ่งได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน แร่ธาตุ และวิตามิน หากรับประทานแต่ผักเพียงอย่างเดียว แม้ว่าจะทำให้น้ำหนักลดลง แต่เราก็จะรู้สึกไม่มีแรง อ่อนเพลียได้ง่าย เพราะสารอาหารไม่ครบถ้วนนั่นเอง โดยใน 1 มื้อ เราควรรับประทานผัก 2 ส่วน แป้ง 1 ส่วน โปรตีน 1 ส่วน และไขมันเพียงเล็กน้อย เพียงเท่านี้ร่างกายก็จะได้รับสารอาหารครบถ้วนทุกมื้อแล้วค่ะ
กินให้น้อยถึงจะดี
เป็นความเชื่อที่ผิดอีกเช่นกัน โดยเฉพาะคนที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก หรือลดความอ้วน การบริโภคแต่น้อย ก็อาจจะทำให้น้ำหนักลดลงอยู่ แต่ร่างกายอาจไม่ได้รับพลังงานที่เพียงพอต่อวัน ทำให้ไม่มีแรง รู้สึกเหนื่อยล้าได้ง่าย ยิ่งหากต้องออกกำลังกายด้วยแล้ว อาจจะทำให้เป็นลมล้มพับไปเลยก็ได้ ทางที่ดีควรคำนวณปริมาณแคลอรี่ที่ร่างกายต้องใช้ต่อวันให้เหมาะสมกับตัวเราจะดีที่สุดค่ะ นอกจากนั้นการรับประทานอาหารที่น้อยเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะโยโย่ได้ หรือน้ำหนักเด้งกลับขึ้นมาอ้วนเหมือนเดิม หรืออ้วนมากกว่าเดิมอีกด้วยค่ะ

ดื่มน้ำให้เยอะเข้าไว้
เราอาจจะเคยได้ยินว่าการดื่มน้ำเปล่าที่อุณหภูมิห้อง ยิ่งดื่มน้ำมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งดีต่อร่างกายมากขึ้นเท่านั้น เนื่องจากร่างกายของเรามีส่วนประกอบของน้ำ นอกจากนั้น 90% ของเลือดยังประกอบไปด้วยน้ำ และน้ำยังช่วยทำให้ผิวพรรณและผิวหน้ามีความชุ่มชื้น เปล่งปลั่ง ช่วยขับของเสียออกจากร่างกาย ทำให้ไม่รู้สึกร้อนเกินไปอีกด้วย แต่การดื่มน้ำเปล่าที่มากจนเกินไป อาจไม่ส่งผลดีต่อร่างกายอย่างที่คิดไว้ก็ได้ โดยเราไม่ควรดื่มน้ำเกิน 3 ลิตรต่อวัน เพราะอาจจะทำให้เกิดภาวะน้ำเป็นพิษได้ โดยน้ำจะไปทำให้ปริมาณเกลือแร่และโซเดียมเจือจางลง ทำให้ค่าของแร่ธาตุสองตัวนี้ต่ำกว่าปริมาณที่ควรจะเป็น ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้ร่างกายของเราเกิดความผิดปกติได้เช่นกัน
ออกกำลังกายให้หนัก
การออกกำลังกายแม้ว่าจะดีต่อร่างกาย เพราะทำให้ร่างกายแข็งแรง รู้สึกกระฉับกระเฉง กระปรี้กระเปร่า แต่การออกกำลังกายมากจนเกินไป หรือออกกำลังกายหนักจนเกินกว่าที่ร่างกายของเราจะรับไหว อาจทำให้ร่างกายของเราสึกหรอกว่าที่ควรจะเป็น และทำให้เรารู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เนื่องจากการออกกำลังกายที่มากจนเกินไป จะทำให้ร่างกายของเราผลิตสารอนุมูลอิสระมากขึ้น ซึ่งสารนี้มีคุณสมบัติทำลายเซลล์ของร่างกายเราให้เสื่อมสภาพลง จึงอาจเกิดการเจ็บไข้ได้ป่วย หรือเป็นโรคต่าง ๆ ตามมาได้
กินผลไม้เยอะๆ แล้วจะดี
แม้ว่าผลไม้จะอยู่ในตระกูลเดียวกันกับผัก แต่ผลไม้บางชนิดก็มีปริมาณน้ำตาลสูง ซึ่งได้แก่ ทุเรียน ขนุน มะม่วงสุก กล้วยสุก เงาะ น้อยหน่า ละมุด เป็นต้น แม้ว่าผลไม้เหล่านี้จะมีรสชาติที่หอมหวานและแสนอร่อย ซึ่งอาจทำให้เราติดใจ กินต่อได้เรื่อย ๆ จนเผลอกินเยอะเกินไป ทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น และหากเรากินบ่อย ๆ เข้าแล้วล่ะก็ อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานได้เช่นกัน ดังนั้นจึงควรรับประทานผลไม้แต่พอดี หรือควรเลือกรับประทานผลไม้ที่ไม่มีรสหวานจัด หรือมีปริมาณน้ำตาลสูง เช่น ฝรั่ง แอปเปิ้ล ชมพู่ แก้วมังกร ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ส้ม สาลี่ มะม่วงมัน เป็นต้น
แม้ว่าเราอาจจะเคยทำตามความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเหล่านี้กันไปแล้ว แต่หากเราปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม ทำตามวิธีที่ถูกต้อง ไม่รับประทานหรือดื่มอาหารบางชนิดจนมากเกินไป รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ แบ่งสัดส่วนในแต่ละมื้ออย่างเหมาะสม ออกกำลังกายแต่พอดี เพียงเท่านี้เราก็จะมีร่างกายที่แข็งแรงขึ้นได้แล้วค่ะ