ขึ้นชื่อว่าโรคหัวใจ ใคร ๆ ก็ไม่อยากเป็น เพราะเป็นโรคที่น่ากลัว รักษาหายยาก รบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้เหนื่อยง่าย หน้ามืด เป็นลมบ่อย เจ็บแน่นหน้าอก หายใจไม่ค่อยออก ซึ่งสร้างความทรมานให้กับผู้ป่วยเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นหากเราหาทางป้องกันได้ก็จะดีต่อตัวเราและคนใกล้ชิดมากที่สุด ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคหัวใจนั้นมีอะไรบ้าง ไปอ่านกันเลยค่ะ
กินเหล้า สูบบุหรี่บ่อย ๆ
แน่นอนว่าทุกคนรู้ดีว่าการกินเหล้า หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมเป็นประจำ และการสูบบุหรี่เกือบทุก ๆ วัน จะทำให้ร่างกายอ่อนแอลง เสี่ยงทำให้ป่วยเป็นโรคต่าง ๆ รวมทั้งโรคหัวใจด้วย และอาจป่วยเป็นโรคร้ายแรงอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคมะเร็ง เพราะเราเอาแต่นำของที่ไม่ดีเข้าสู่ร่างกายเป็นประจำนั่นเอง
น้ำหนักเกิน เป็นโรคอ้วน
การที่เรามีน้ำหนักตัวที่มากเกินไป หรือเป็นโรคอ้วน ทำให้เรามีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยเป็นโรคหัวใจและโรคอื่น ๆ เนื่องจากร่างกายมีปริมาณไขมันสะสมอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ค่อนข้างมาก ซึ่งส่งผลให้หลอดเลือดอาจมีการอุดตัน เพราะคราบไขมันเกาะอยู่เป็นปริมาณมาก จนกีดขวางการหล่อเลี้ยงของเลือด อาจทำให้เส้นเลือดตีบ หรือเส้นเลือดแตกได้อีก ซึ่งอันตรายถึงชีวิต
มีความเครียดอยู่เป็นประจำ
ความเครียดเป็นอีกตัวหนึ่งที่ทำร้ายร่างกายได้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อเราเครียดร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนบางอย่าง และสารอนุมูลอิสระ มาทำลายเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย เปรียบเสมือนกระบวนการร่างกายทำลายตัวเองทางอ้อม ซึ่งมีผลมาจากความเครียดนั่นเอง ซึ่งการห้ามเครียดนั้นเป็นสิ่งที่ยาก แต่ก็ควรหาวิธีการที่จะผ่อนคลาย ให้เวลาตัวเองได้พักกายพักใจบ้าง ก็จะดีต่อสุขภาพของคุณ และห่างไกลจากโรคหัวใจอีกด้วย

รับประทานอาหารไขมันสูง
การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงเป็นประจำ เช่น อาหารจำพวกของมัน ของทอด หรือของหวาน อาหารตามสั่ง อาหารจานด่วน อาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ การรับประทานอาหารที่เน้นแต่ความอร่อยเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงปริมาณไขมันที่ร่างกายจะได้รับ จะทำให้เกิดความเสี่ยงที่คุณจะป่วยเป็นโรคหัวใจ และโรคอื่น ๆ ตามมานั่นเอง
ป่วยเป็นโรคเบาหวาน
หากคุณมีโรคประจำตัวหรือป่วยเป็นโรคเบาหวาน ก็มีความเสี่ยงสูงที่คุณจะป่วยเป็นโรคหัวใจร่วมด้วย เพราะร่างกายของผู้ที่ป่วยเป็นเบาหวาน มักไม่แข็งแรง อ่อนแอ และมักมีภาวะไขมันในเลือดสูง ซึ่งส่งผลกระทบทำให้เลือดข้น และอาจไปอุดตันในเส้นเลือด ทำให้หัวใจทำงานหนักมากขึ้น หากปล่อยไว้นาน ๆ ก็จะกลายเป็นโรคหัวใจในที่สุด และอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้เช่นกัน
เป็นโรคความดันโลหิตสูง
โรคความดันโลหิตสูงก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คุณมีความเสี่ยงป่วยเป็นโรคหัวใจได้เช่นกัน ซึ่งสาเหตุอาจเนื่องมาจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ผิดพลาด ชอบรับประทานอาหารรสเค็ม รสจัด ดื่มน้ำเย็นบ่อย ดื่มน้ำน้อย หรือชอบรับประทานอาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลสูง ก็ส่งผลให้มีความดันโลหิตสูง และอาจป่วยเป็นโรคไตด้วยเช่นกัน

ขาดการออกกำลังกาย
แม้ว่าคุณอาจจะไม่ได้มีโรคประจำตัว และรับประทานอาหารอย่างถูกโภชนาการก็ตาม แต่หากคุณขาดการออกกำลังกาย ไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำ หรือแทบไม่เคยได้ออกกำลังกายเลย ก็จะทำให้คุณมีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคหัวใจได้เช่นกัน เพราะหัวใจอ่อนแอไม่แข็งแรงนั่นเอง และถ้าคุณจำเป็นต้องใช้แรงมาก ๆ ขึ้นมา อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันได้เช่นกัน ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต
แม้ว่าโรคหัวใจจะเป็นโรคที่ร้ายแรงและดูน่ากลัว แต่เราก็มีวิธีป้องกันไม่ให้ตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงได้ โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เพียงพอต่อร่างกาย ไม่มากไม่น้อยเกินไป ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยต้องไม่ต่ำกว่า 6 ชม. แต่ถ้าหากนอนหลับได้ต่อเนื่องกันครบ 8 ชม. จะดีที่สุด และสุดท้ายพยายามหาทางผ่อนคลายอารมณ์และความคิดให้ตัวเองห่างไกลจากความเครียด อาจจะฟังเพลงบำบัด นั่งสมาธิ สวดมนต์ หรือไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจก็ได้เช่นกัน เพียงเท่านี้คุณก็จะมีร่างกายที่แข็งแรง ห่างไกลจากโรคหัวใจและโรคต่าง ๆ ได้แล้วค่ะ