ใครหลายคนอาจเคยได้ยินเกี่ยวกับโรคลำไส้แปรปรวน ซึ่งทำให้ร่างกายมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารและระบบการขับถ่าย บางทีปวดท้อง คลื่นไส้ อยากจะอาเจียน บางทีท้องผูก บางทีท้องเสีย สลับกันไป จนคาดเดาไม่ได้ว่าวันนี้เราจะเจอกับอาการใดบ้าง หลายคนทนทรมานกับโรคนี้อยู่ และอยากหาทางรักษาและแก้ไข ซึ่งบทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโรคลำไส้แปรปรวน ให้คุณได้ทำความรู้จักและรู้วิธีรับมือกับโรคนี้ให้มากขึ้น ไปอ่านกันเลยค่ะ
สาเหตุของโรคลำไส้แปรปรวน
ในปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดเกี่ยวกับการเกิดโรคนี้ แต่พบว่าเกิดจากความผิดปกติของการหดตัวของกล้ามเนื้อของลำไส้ เนื่องมาจากปัจจัยหลายอย่าง อันได้แก่ เกิดจากการหลั่งสารหรือฮอร์โมนบางอย่างในร่างกาย ทำให้ลำไส้มีการบีบตัวหรือเคลื่อนไหวผิดปกติ ส่งผลให้เกิดอาการท้องเสีย หรือท้องผูกนั่นเอง นอกจากนั้นยังอาจเกิดจากสิ่งเร้ากระตุ้นภายนอก อันได้แก่ การรับประทานอาหารที่ผิดแปลกไปจากเดิม หรืออาหารที่หมดอายุแล้ว รวมทั้งอารมณ์และความเครียด ก็ถือเป็นสิ่งเร้าจากภายนอกที่กระตุ้นทำให้ร่างกายประสบกับปัญหาลำไส้แปรปรวนได้เช่นกัน หรืออาจเกิดจากความผิดปกติของการทำงานของระบบประสาทและสมอง รวมทั้งลำไส้ของร่างกายอีกด้วย

อาการของโรคลำไส้แปรปรวน
ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดท้องเป็นหลัก แต่ไม่ได้ปวดตลอดเวลา มักจะเป็น ๆ หาย ๆ และอาการปวดท้องมักจะรุนแรงไม่เท่ากัน บางทีปวดน้อย บางทีปวดมาก บางทีปวดเกร็ง ปวดบริเวณท้องน้อยก็มี แต่หากได้ขับถ่ายอุจจาระออกไปจากร่างกาย ส่วนใหญ่จะทำให้รู้สึกดีขึ้น แต่การขับถ่ายก็ยังผิดปกติอยู่ดี โดยอาจจะมีอาการท้องเสียสลับกับอาการท้องผูก โดยอุจจาระอาจจะมีลักษณะแข็งเป็นก้อน หรืออาจจะเหลวเป็นน้ำ อาจถ่ายมีมูกปน ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีอาการหนึ่งเด่นกว่าอีกอาการหนึ่งเสมอ บางคนอาจท้องผูกมากกว่าท้องเสีย ส่วนบางคนอาจมีอาการสลับกันก็เป็นได้ บางคนอาจมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย ย่อยได้ช้า หรือย่อยได้ยาก เนื่องจากในกระเพาะมีแก๊สอยู่ในปริมาณมาก อาจทำให้มีอาการเรอออกมา หรือเวลาถ่ายอาจจะผายลมออกมาด้วยก็ได้ โดยอาจจะมีอาการเหล่านี้ติดต่อกันนานหลายเดือน หรืออาจจะเป็นปี หรือบางคนอาจจะเป็นทั้งตลอดชีวิตเลยก็ได้
แม้ว่าอาจจะดูน่ากลัวสำหรับใครบางคน เพราะโรคลำไส้แปรปรวนเป็นโรคเรื้อรัง และถึงแม้ว่าจะรักษาไม่หายขาด แต่ก็ไม่ใช่โรคร้ายแรงแต่อย่างใด ไม่อันตรายถึงชีวิต และไม่ส่งผลเสียต่อร่างกาย เพียงแต่เป็นโรคที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดความรำคาญก็เท่านั้น ซึ่งบางคนอาจจะเป็น ๆ หาย ๆ ทั้งตลอดชีวิตเลยก็ได้ และอาจไม่ได้ไปหาหมอก็มี เพราะอาการไม่รุนแรงเท่าไหร่ แต่หากผู้ป่วยคนใดมีอาการรุนแรงมาก รบกวนต่อการใช้ชีวิตในประจำวัน เป็นอุปสรรคต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ ดูดเวลาในการทำงานและการเรียน ก็ควรจะไปพบหมอ เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง

การดูแลตัวเองในเบื้องต้น
สำหรับใครที่มีอาการไม่รุนแรงมากนัก เราก็มีวิธีในการแก้ไขและดูแลตัวเองให้เกิดภาวะลำไส้แปรปรวนน้อยลงได้ในเบื้องต้น ซึ่งมีดังต่อไปนี้
- ลดการรับประทานอาหารที่ย่อยยาก อย่างเช่น เนื้อสัตว์ ให้หันมารับประทานโปรตีนจากถั่วเหลืองหรือเต้าหู้แทน หรือเนื้อปลาก็ได้เช่นกัน
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทผัด หรือทอด ที่มีความมัน รวมทั้งอาหารจำพวกนมและเนยด้วย
- หลีกเลี่ยงการรับประทานแป้งขาวขัดสี เช่น ข้าวขาว หรือขนมปังขาว ให้เปลี่ยนมารับประทานแป้งที่ไม่ขัดสีแทน เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท รวมทั้งธัญพืชต่าง ๆ เช่น ถั่ว ลูกเดือย งาดำ และงาขาว เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร เช่น อาหารที่มีรสจัด เปรี้ยวจัด เผ็ดจัด เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการรับประทานเครื่องดื่มจำพวกชา กาแฟ เหล้า เบียร์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ รวมทั้งน้ำเย็นจัดอีกด้วย โดยควรดื่มน้ำที่อุณหภูมิห้องประมาณ 6-8 แก้วต่อวันเป็นอย่างน้อย และไม่ควรดื่มระหว่างมื้ออาหาร
- หากกระเพาะทำงานได้ไม่เต็มที่ ให้แบ่งอาหารเป็นมื้อย่อย ๆ มื้อเล็ก ๆ เช่น จาก 3 มื้อใหญ่ เป็น 4-5 มื้อย่อย กินทีละน้อย ๆ แต่กินบ่อย ๆ ก็จะช่วยหลีกเลี่ยงอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย หรือย่อยยากได้
- ออกกำลังกายเป็นประจำและสม่ำเสมอ โดยควรออกกำลังกายอย่างน้อย 3-5 วันต่อสัปดาห์ และควรออกครั้งละประมาณ 30 นาทีเป็นอย่างต่ำ
เพียงเท่านี้ก็จะทำให้คุณห่างไกลอาการหรือโรคลำไส้แปรปรวนได้แล้วค่ะ แต่สำหรับใครที่ไม่หายขาด ก็อาจจะทำให้อาการของโรคทุเลาลงได้ และมีความสุขกายสบายใจกับการรับประทานอาหารและใช้ชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น