ง่วงนอนบ่อย เป็นเพราะอะไร แก้ไขอย่างไรดี?

ง่วงนอนบ่อย

อาการง่วงนอนเป็นเรื่องปกติของคนทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในเวลากลางคืน ตอนที่ไม่มีแสงแดดแล้ว สมองจะรับรู้ถึงความมืด และหลั่งฮอร์โมนที่ทำให้เรารู้สึกง่วง เพื่อเป็นสัญญาณบอกให้เราเข้านอน ซึ่งเป็นกระบวนการทางธรรมชาติที่เป็นปกติทั่วไปของมนุษย์ แต่สำหรับบางคนเกิดอาการง่วงนอนระหว่างวัน ง่วงนอนบ่อย อยากจะหลับเสียให้ได้ ทั้งที่เป็นเวลากลางวัน ซึ่งสาเหตุเหล่านั้นจะเป็นเพราะอะไรบ้าง มาอ่านกันดีกว่าค่ะ

ชอบนอนดึก

แน่นอนว่าสำหรับคนที่ชอบนอนดึกเป็นประจำ ย่อมจะต้องเกิดอาการง่วงระหว่างวันขึ้นอยู่แล้ว ซึ่งบางคนอาจมีความจำเป็นที่จะต้องนอนดึก เช่น ทำงานพิเศษ ท่องหนังสือเรียน เป็นต้น แต่สำหรับบางคนก็นอนดึกเพราะไม่ได้กำหนดเวลานอนของตัวเองให้ชัดเจน อาจจะดูทีวีหรือเล่นมือถือไปเรื่อย ๆ จนลืมดูเวลา พอรู้ตัวอีกทีก็ดึกแล้ว ทำให้กลางคืนนอนไม่พอ และมาง่วงระหว่างวันนั่นเอง

การนอนผิดปกติ

สำหรับบางคนอาจจะมีปัญหาในการนอนหลับ เช่น มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้สะดุ้งตื่นกลางดึกทุกวัน พอจะกลับไปนอนอีกที ก็ยากที่จะหลับแล้ว บางคนนอนหลับ ๆ ตื่น ๆ ตลอดทั้งคืน ทำให้รู้สึกนอนไม่อิ่มอยู่ทุกวัน บางคนก็นอนผิดเวลาเดิมที่เคยเข้านอนประจำ หรือบางคนก็มีการเปลี่ยนที่นอน ทำให้นอนไม่หลับ บางคนก็นอนกรน ซึ่งล้วนส่งผลเสียต่อสุขภาวะในการนอนหลับทั้งสิ้น

สุขภาพจิตย่ำแย่

หลายคนมีปัญหาส่วนตัวในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการเงิน ปัญหาเรื่องการงาน ปัญหาเรื่องการเรียน ปัญหาเรื่องครอบครัว ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ๆ และปัญหาต่าง ๆ ทำให้เกิดความเครียดสะสม จนทำให้สุขภาพจิตย่ำแย่ โดยอาจพัฒนากลายไปเป็นโรคเครียด หรือโรคซึมเศร้า ซึ่งก็ส่งผลให้สารเคมีในสมองทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ และง่วงระหว่างวันบ่อยนั่นเอง

ผลข้างเคียงของยา

ซึ่งยาบางชนิดมีผลข้างเคียงทำให้ผู้ป่วยรู้สึกง่วงเกือบจะตลอดเวลา จนกว่ายาจะหมดฤทธิ์ เช่น ยาแก้แพ้ โดยส่วนใหญ่จะส่งผลให้ผู้ที่รับประทานรู้สึกง่วง แม้จะนอนพักผ่อนอย่างเพียงพอแล้วก็ตาม ส่วนยานอนหลับก็เช่นเดียวกัน แม้ว่าจะช่วยในเรื่องของการนอนหลับก็จริงอยู่ แต่หากรับประทานบ่อย ๆ จนติด ก็จะทำให้ร่างกายไม่สดชื่น เวลาตื่นก็ยังรู้สึกง่วงอยู่ดี

ป่วยเป็นโรคบางชนิด

บางคนป่วยเป็นโรคบางอย่าง ก็สามารถส่งผลต่อการนอน และความง่วงได้เช่นกัน โดยโรคที่มักส่งผลให้เกิดอาการง่วงระหว่างวันนั้น ได้แก่           

  • โรคโลหิตจาง

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคโลหิตจาง จะมีภาวะเลือดต่ำ ขาดธาตุเหล็ก เลือดไหลเวียนได้ไม่สมบูรณ์ จึงทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย เหนื่อยล้าได้ง่าย และทำให้เกิดอาการง่วงบ่อย ๆ นั่นเอง

  • โรคอ่อนเพลียเรื้อรัง

โรคนี้อาจไม่มีสาเหตุแน่ชัด แต่อาการมักจะมีปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ไม่ค่อยมีแรง บางคนเป็นติดต่อกันนานกว่า 6 เดือน ทำให้ความอ่อนเพลียเรื้อรังและสะสม ส่งผลให้นอนไม่หลับในตอนกลางคืน และง่วงระหว่างวันนั่นเอง

  • โรคเบาหวาน

คนที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน มักมีอาการอ่อนเพลียได้ง่าย หิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักลดลงได้ง่ายจนผิดปกติ เนื่องจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้เหนื่อยง่าย และง่วงบ่อย

  • โรคไทรอยด์

โรคนี้เกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนไทรอยด์ หรือไทรอยด์เป็นพิษ ซึ่งส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลียได้ง่าย และง่วงบ่อยในระหว่างวันนั่นเอง

วิธีแก้ไข

แม้ว่าอาการง่วงบ่อย ง่วงระหว่างวัน หลายคนต้องประสบพบเจออยู่เสมอ จนเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวัน แต่เราก็มีวิธีแก้ไขที่ดีมาแนะนำกันค่ะ นั่นก็คือ

  • ปรับเวลาการนอนเสียใหม่

ตั้งเวลานอนให้เหมาะสม โดยให้คำนึงถึงนาฬิกาชีวิต ซึ่งคนปกติควรเข้านอนตอนประมาณ 4 – 5 ทุ่ม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด เพราะโกรทฮอร์โมนจะหลั่งในช่วงเวลานี้ ตอนที่เราหลับลึกนั่นเอง แล้วฮอร์โมนนี้เองจะไปช่วยซ่อมแซมร่างกายส่วนที่สึกหรอ ช่วยฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาแข็งแรง และเมื่อเราทำเช่นนี้เป็นประจำ ร่างกายก็จะเกิดความคุ้นชิน และง่วงในเวลานั้นโดยอัตโนมัตินั่นเอง

  • เปลี่ยนสภาพแวดล้อมในห้องนอน

พยายามจัดสภาพแวดล้อมในห้องนอนให้เหมาะสมแก่การนอนหลับ โดยต้องให้มืดสนิทที่สุด อุณหภูมิเหมาะสม ไม่หนาวหรือร้อนจนเกินไป ต้องไม่มีเสียงรบกวนจากภายนอก อากาศถ่ายเทสะดวก ที่นอนไม่แข็งหรือไม่นุ่มจนเกินไป หมอนก็ไม่สูงหรือต่ำจนเกินไป และไม่ทำกิจกรรมอื่นบนที่นอน นอกจากการนอนเท่านั้นค่ะ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้คุณนอนหลับได้สนิทมากยิ่งขึ้นแล้ว

  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติด

แม้ว่าการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมจะทำให้เรารู้สึกสบายผ่อนคลาย และอาจจะหลับง่ายในช่วงแรก แต่ก็มักจะทำให้เราตื่นขึ้นมากลางดึกเสมอ และทำให้หลับต่อได้ยาก เนื่องมาจากว่าเครื่องดื่มเหล่านี้มีสารที่ไปกระตุ้นการทำงานของหัวใจ และทำให้ความดันโลหิตสูงตามมา นอกจากนั้นยังทำให้ปวดปัสสาวะตอนกลางคืนอีกด้วย

  • ผ่อนคลายความเครียด

ความเครียดเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เรานอนไม่หลับ โดยก่อนจะนอนควรจะทิ้งเรื่องงานและปัญหาต่าง ๆ เอาไว้นอกห้อง พยายามไม่คิดถึงมัน เพราะจะทำให้เรากังวลตลอดทั้งคืน จนนอนไม่หลับนั่นเอง หรืออาจจะหาตัวช่วยด้วยการนั่งสมาธิ สวดมนต์ก่อนนอน เพื่อให้จิตใจสงบก็ได้ หรือจะฟังเพลงที่ช่วยให้หลับ ซึ่งมักจะเป็นเสียงธรรมชาติ หรือเพลงเบา ๆ ก็ได้เช่นกัน

  • ออกกำลังกายเป็นประจำ

การออกกำลังกายไม่เพียงแต่จะช่วยเผาผลาญพลังงาน ไขมัน และทำให้ร่างกายแข็งแรงเท่านั้น แต่ยังช่วยปรับสมดุลของร่างกายให้เป็นปกติ ซึ่งส่งผลต่อการนอนหลับ ทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น หลับลึกมากกว่าเดิม แต่ก็ไม่ควรจะออกกำลังกายก่อนเข้านอน โดยควรเว้นประมาณ 4-6 ชั่วโมง เพราะการออกกำลังกายก็ทำให้ร่างกายตื่นตัวได้เช่นกัน

  • ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอต่อร่างกาย

อย่ามองข้ามการดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพ่อต่อร่างกายในแต่ละวัน เพราะน้ำเป็นส่วนประกอบของเลือดถึง 90% เลยทีเดียว ซึ่งมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากของระบบการทำงานในร่างกาย ซึ่งทำให้รู้สึกสดชื่นระหว่างวัน ลดความอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า และความเครียดได้ ทำให้ตอนกลางคืนนอนหลับได้ดีขึ้นนั่นเอง

  • รักษาด้วยวิธีทางการแพทย์

สำหรับใครที่ทำตามคำแนะนำครบทุกวิธีแล้ว แต่การนอนหลับก็ไม่ดีขึ้น ซึ่งยังมีอีกทางเลือกหนึ่ง คือไปพบแพทย์ เพื่อหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เพื่อให้แพทย์ได้ตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด ว่ามีโรคอะไรแทรกซ้อนด้วยหรือเปล่า หรืออาจจะทำการทดสอบการนอน เพื่อวัดและประเมินผลในการรักษาขั้นต่อไป

จะเห็นได้ว่าสาเหตุการง่วงบ่อย ง่วงระหว่างวัน มักจะเกิดมาจากการนอนไม่หลับ หรือนอนไม่พอในเวลากลางคืน ด้วยเนื่องมาจากปัจจัยหลากหลายอย่าง ซึ่งทุกคนที่ประสบปัญหานี้ควรจะหาสาเหตุและปัจจัยเหล่านั้นให้เจอโดยเร็ว เพื่อจะได้แก้ไขที่ต้นเหตุ หรือหาตัวช่วยที่ทำให้นอนหลับสนิทได้ง่ายขึ้น เพื่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตที่ดีของเรานั่นเอง