โรคกรดไหลย้อน เป็นอย่างไร?

โรคกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อนมีชื่อทางภาษาอังกฤษว่า Gastroesophageal Reflux Disease หรือ  GERD เป็นโรคที่ใครก็มีสิทธิ์เป็นกันได้ ซึ่งเกิดมาจากน้ำกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปที่หลอดอาหาร ทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอก เรอเปรี้ยวได้ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายตัว และเป็นอุปสรรคกับการใช้ชีวิตในประจำวัน เราไปทำความรู้จักกับโรคกรดไหลย้อนกันเลยดีกว่าค่ะ

สาเหตุ

  • รับประทานอาหารเสร็จแล้วเข้านอนทันที
  • รับประทานอาหารเสร็จแล้วออกกำลังกายทันที
  • การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาโรคหอบหืดบางตัว
  • การรับประทานอาหารพวกของมัน ของทอด
  • การรับประทานช็อกโกแลต โกโก้ ถั่ว เนย นม ไข่ มากจนเกินไป
  • การดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม แอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่
  • การรับประทานผักบางชนิด เช่น กระเทียม หัวหอม มะเขือเทศ เป็นต้น
  • การรับประทานอาหารที่มีรสจัด
  • การรับประทานอาหารเยอะจนเกินไป
  • คนที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน หรือเป็นโรคอ้วน
  • ชอบสวมเสื้อผ้าที่คับ หรือรัดแน่นจนเกินไป โดยเฉพาะบริเวณรอบเอว
  • หูรูดส่วนปลายหลอดอาหารทำงานผิดปกติ
  • กระเพาะอาหารมีการบีบตัวผิดปกติ
  • มีอาการท้องผูก ถ่ายยาก และชอบเบ่งตอนยังไม่ปวด
  • เกิดมาจากความเครียด ทำให้ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง
  • หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ทำให้หูรูดกระเพาะและหลอดอาหารอ่อนแอ และมดลูกขยายตัวไปดันกระเพาะอาหาร

จะเห็นได้ว่าสาเหตุเกิดได้จากหลายปัจจัย ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดจากพฤติกรรมในการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม เช่น ชอบกินของหวาน ของมัน ของทอด ของที่มีไขมันสูง ชอบดื่มน้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่ การกินแล้วนอน หรือการรับประทานอาหารมากเกินไป ซึ่งส่วนใหญ่เราก็ต่างรู้กันดีว่า พฤติกรรมการรับประทานอาหารเช่นนี้ จะส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวม ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้เป็นโรคกรดไหลย้อนเท่านั้น อาจส่งผลทำให้เป็นโรคอื่น ๆ ตามมาอีกด้วย

อาการ

  • แสบร้อนกลางอก
  • เรอเปรี้ยว เรอบ่อย
  • รู้สึกขมหรือเปรี้ยวในลำคอ
  • จุกในคอ กลืนลำบาก
  • ฟันผุ มีกลิ่นปาก
  • เจ็บบริเวณหน้าอก
  • เสียงแหบลง เสียงเปลี่ยนไป
  • ไอเรื้อรัง ไอบ่อย
  • ไซนัสอักเสบ
  • กล่องเสียงอักเสบ
  • หูอักเสบ

หากใครหรือคนใกล้ชิดมีอาการเหล่านี้ ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่า อาจมีสิทธิ์ป่วยเป็นโรคกรดไหลย้อนได้ ซึ่งควรไปพบแพทย์เพื่อหาทางตรวจและรักษาต่อไป

การตรวจ

  • การซักประวัติโดยทั่วไปของผู้ป่วย
  • การส่องกล้องภายในระบบทางเดินอาหาร
  • การตรวจการบีบตัวของหลอดอาหาร
  • การตรวจความเป็นกรด เป็นด่างภายในหลอดอาหาร
  • การกลืนสารทึบแสง และตรวจด้วยการเอกซเรย์
  • การตรวจโดยทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์

จะเห็นว่าวิธีการตรวจโรคกรดไหลย้อนนั้นมีมากมายหลายวิธี ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย รวมทั้งการวินิจฉัยของแพทย์ และประสบการณ์ทางการรักษาของแพทย์แต่ละบุคคลนั่นเอง

การรักษา

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการรับประทานอาหาร
  • หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคกรดไหลย้อน หรือรับประทานในปริมาณที่พอดี
  • การรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเป็นประจำและสม่ำเสมอ โดยไม่ควรปรับขนาดยาและงดยาด้วยตัวเอง
  • มาพบแพทย์ตามนัดเป็นประจำ เพื่อตรวจดูความเปลี่ยนแปลง หลังการเข้ารับการรักษา
  • การผ่าตัดหูรูดกระเพาะอาหารและหลอดลมให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

แม้ว่าโรคกรดไหลย้อน จะเป็นโรคที่สร้างความกวนใจให้กับใครหลายคน แต่ก็เป็นโรคที่เราสามารถหลีกเลี่ยงและป้องกันได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม หรือแม้แต่คนที่ป่วยเป็นโรคนี้แล้ว ก็ยังมีวิธีแก้ไขและรักษาให้หายได้เช่นกัน โดยต้องมีวินัย ทำตามคำแนะนำของแพทย์ และหมั่นดูแลรักษาร่างกายของตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพียงเท่านี้คุณก็จะห่างไกลจากโรคกรดไหลย้อนและโรคอื่น ๆ ได้แล้วค่ะ