วิธีสังเกตอาการเส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบ

วิธีสังเกตอาการเส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบ

หลายคนอาจจะเคยได้ยินหรือรู้จักกับอาการหรือโรคเส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบ ซึ่งเป็นอาการที่อันตราย และอาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน ดังนั้นเราจึงต้องดูแลสุขภาพของตัวเองและคนรอบข้างให้ดีอยู่เสมอ และคอยระมัดระวังอาการผิดปกติต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อไม่ให้เกิดอาการเส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบขึ้น มารู้จักกับภาวะเส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบกันดีกว่า

สาเหตุ

เกิดจากการอุดตันของเส้นเลือดในสมอง เนื่องจากมีไขมันสะสมอยู่ในเส้นเลือดมากเกินไป จนเลือดไม่สามารถไหลเวียนผ่านไปได้ ทำให้เกิดอาการเส้นเลือดตีบ จากนั้นจะทำให้เส้นเลือดโป่งพองและแตกในที่สุด จนเลือดไปคั่งค้างอยู่ในสมอง ทำให้สมองสูญเสียเลือดในปริมาณมากอย่างฉับพลัน ซึ่งส่งผลให้ร่างกายตกอยู่ในภาวะอันตราย จึงต้องนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด

อาการ

  1. มือเท้าชา ชาครึ่งซีก ครึ่งหน้า แขนขาอ่อนแรง ขยับตัวไม่ได้ เป็นอัมพาตครึ่งซีก
  2. พูดไม่ชัด พูดไม่รู้เรื่อง กลืนน้ำลำบาก น้ำลายไหล
  3. เห็นภาพมัว หรือเห็นภาพซ้อน
  4. ปวดหัวอย่างรุนแรง
  5. เวียนศีรษะ เดินเอียง เดินเซ
  6. คลื่นไส้ อาเจียน
  7. เป็นลม หมดสติ

หากผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้ ให้รีบนำตัวส่งให้ถึงมือแพทย์โดยเร็วที่สุด เพราะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต และอาจจะสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที

ปัจจัยเสี่ยง

โรคนี้มีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดมาจากโรคประจำตัวดังนี้

  1. โรคความดันโลหิตสูง
  2. โรคเบาหวาน
  3. โรคหัวใจ
  4. โรคอ้วน
  5. ความเครียด
  6. ขาดออกการออกกำลังกาย
  7. กรรมพันธุ์
  8. การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่
  9. อายุมากเกิน 65 ปีขึ้นไป
  10. ระดับไขมันในเลือดสูง

การป้องกัน

  1. ตรวจความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ
  2. หมั่นตรวจระดับไขมันในร่างกาย
  3. ตรวจระดับน้ำตาลอยู่เสมอ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคเบาหวาน ต้องระมัดระวังตัวเป็นพิเศษ
  4. สำหรับคนที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ ให้หมั่นรับประทานยาประจำตัวอยู่เสมอ ดูแลร่างกายของตัวเองให้ดี ไปตรวจเลือดตามนัดอยู่สม่ำเสมอ
  5. ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหรือมีระดับไขมันในเลือดสูง ต้องไปตรวจร่างกายอยู่เป็นประจำ และรับประทานยาลดไขมันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะเส้นเลือดในสมองอุดตัน
  6. ดูแลรูปร่างและน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์มาตรฐาน
  7. ออกกำลังกายอยู่เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ครั้งละ 30 นาที
  8. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่
  9. งดอาหารที่มีไขมันสูง รสเค็มจัด และรสจัดจ้าน
  10. ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ หรือดื่มในปริมาณน้อยและไม่สูบบุหรี่จัดจนเกินไป
  11. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง

แม้ว่าอาการเส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบจะเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ก็มีวิธีรักษาและวิธีป้องกันที่ได้ผลอยู่ หากทุกคนดูแลรักษาและใส่ใจสุขภาพของตัวเองและคนรอบข้างอยู่เสมอ ก็จะลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะหรือโรคเส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบลงได้ ด้วยปัจจัยพื้นฐานคือ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้ก็จะทำให้คุณมีร่างกายที่สดใสแข็งแรง พร้อมต่อสู้โรคภัยได้อยู่เสมอแล้วค่ะ